สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา
Responsive image

สคร.12 แนะสังเกตไข้สูงลอย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร สงสัยไข้เลือดออก ให้รีบพบแพทย์

สคร.12 แนะสังเกตไข้สูงลอย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร สงสัยไข้เลือดออก ให้รีบพบแพทย์

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีโอกาสเป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โรคนี้ระบาดได้ทั้งปี และพบการระบาดมากในช่วงนี้ซึ่งเป็นฤดูฝน มีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงขึ้น หากพบมีอาการไข้สูงลอย คลื่นไส้ หรือเบื่ออาหาร อย่าซื้อยากินเอง ขอแนะนำให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว 
วันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวัน ASEAN Dengue Day หรือวันไข้เลือดออกอาเซียน ในปี 2562 (ASEAN Dengue Day 2019 ) ภายใต้ประเด็นรณรงค์ คือ หยุดไข้เลือดออก: เริ่มต้นที่ตัวเรา (End Dengue: Starts With Me ) เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนให้ป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก
ดร.นายแพทย์ สุวิช ธรรมปาโล นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า อาการไข้เลือดออกส่วนใหญ่มีไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาจมีผื่นหรือจุดเลือดขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ถ้ามีไข้สูง 2-3 วัน ไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีภาวะอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด ภาวะติดสุรา ธาลัสซีเมีย หรือมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน เป็นต้น ห้ามฉีดยา ห้ามจ่ายยา กลุ่มแก้ปวดลดไข้ต้านการอักเสบ หรือกลุ่ม NSAIDs เนื่องจากจะเป็นอันตรายหากผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออก ส่วนอาการหลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอย อุณหภูมิ 38.5 – 40.0 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2-7 วัน อาการทั่วไปคล้ายเป็นหวัด แต่มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก หน้าแดง ปวดศีรษะ บางรายอาจมีปวดท้อง และอาเจียน 
ดร.นายแพทย์ สุวิช เปิดเผยถึงสถานการณ์ การระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่เขต 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 5 มิถุนายน 2562 (ข้อมูลจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 สำนักระบาดวิทยา) ว่า พบผู้ว่าป่วย 2,255 ราย คิดเป็น 2.15 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา อัตราป่วย 45.75 ต่อประชากรแสนคน ผู้ป่วยเสียชีวิต 2 ราย คือ จังหวัดนราธิวาส 1 ราย และพัทลุง 1 ราย จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุดคือ จังหวัดยะลา รองลงมา คือ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี สงขลา พัทลุง ตรัง และสตูล 
สคร.12 สงขลา ขอแนะนำมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในพื้นที่เป้าหมาย 6 ร. ได้แก่ 1.โรงเรือน (บ้าน/ชุมชน) 2.โรงเรียน(สถานศึกษา/สถานเลี้ยงเด็กเล็ก) 3.โรงพยาบาล 4.โรงแรม/รีสอร์ท 5.โรงงาน/กลุ่มอุตสาหกรรม และ 6.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์) โดยยึดหลัก 3 เก็บ 3 โรค คือ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายอยู่อาศัย 2.เก็บขยะให้เกลี้ยงไม่ให้ยุงลายเพาะพันธุ์ 3.เก็บปิดน้ำให้มิดชิดไม่ให้ยุงลายวางไข่ รวมทั้งจุดที่มักมองข้ามภายในบ้าน เช่น แก้วน้ำ แจกันหน้าหิ้งพระและศาลพระภูมิ ควรล้างและเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ ช่วยป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันที่ดีคือ การป้องกันอย่าให้ยุงกัด ทายากันยุง กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น 
หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

……………………………………………
ข่าวโดย: กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
โทรศัพท์ : 0-7433-6079-81,83 ต่อ 29
E-mail: pr_dpc12@hotmail.com

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ