สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี
Responsive image

ข่าวแจก : Strong ไปกับสคร.4 ตอน “ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง #เลิกสูบลดเสี่ยง”

วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม (World No Tobacco Day) ตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดสระบุรี  (สคร.4 สระบุรี) ชูประเด็น “ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง” เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)

แพทย์หญิงวรยา เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดสระบุรี  เปิดเผยว่า  องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า การสูบบุหรี่ทำให้มีความเสี่ยงปอดติดเชื้อเมื่อเทียบกับผู้ไม่สูบ ได้แก่ เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรีย 2-4 เท่า เชื้อไข้หวัดใหญ่ 2 เท่า เชื้อวัณโรคมากกว่า 2 เท่า เพิ่มอัตราการเสียชีวิต 4 เท่า และเชื้อโควิด -19 ถึง 14 เท่า วารสารการแพทย์จีน (Chinese Medical Journal 28 กุมภาพันธ์ 2563) ระบุว่า ในผู้ป่วยที่มีอาการทรุดลงรวมถึงเสียชีวิตเป็นผู้สูบบุหรี่มากกว่าไม่สูบ โดยโควิด -19 ที่เกิดปอดอักเสบ เมื่อแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีอาการดีขึ้น กับกลุ่มที่มีอาการทรุดลง (รวมถึงตาย) พบว่า ในผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการทรุดลงและถึงแก่ความตาย มีสัดส่วนเป็นผู้สูบบุหรี่ ต่อ ผู้ไม่สูบบุหรี่ คิดเป็น 14 : 1 ดังนั้น การสูบบุหรี่เป็นความเสี่ยงสูงสุดที่สัมพันธ์กับการเกิดปอดอักเสบรุนแรง  รวมถึงการเสียชีวิตจากโควิด-19 ไม่ว่าจะบุหรี่มวนหรือบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ  ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอเพราะกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับเชื้อนอกจากผู้สูงอายุแล้ว  กลุ่มที่เป็นโรคปอด หัวใจ ความดัน เบาหวาน บุหรี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคพวกนี้  และโรคพวกนี้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ง่ายขึ้น  ในขณะที่สูบบุหรี่ต้องถอดหน้ากากออกเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสรับเชื้อโควิด-19  การแบ่งกันเสพบุหรี่มวนเดียวกัน หรือการใช้บุหรี่ไฟฟ้าร่วมกันก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19  ได้เช่นเดียวกัน  กรมควบคุมโรค จึงเน้นย้ำคำขวัญการรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2563 คือ “ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง #เลิกสูบลดเสี่ยง”

แพทย์หญิงวรยา  กล่าวต่อว่า  การเลิกสูบ ลดเสี่ยง นั้น มี 2 มาตรการสำคัญ คือ 1) คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด บังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ  เน้นพื้นที่เสี่ยง  แหล่งรวมผู้คน เช่น สถานีขนส่ง  และตลาด  ภายหลังมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ หากพบเห็นการฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะให้จับ ปรับดำเนินคดีทันที  รวมทั้งปราบปรามการส่งเสริมการขายบุหรี่ของธุรกิจยาสูบที่ฉวยโอกาสสถานการณ์โควิด19 ลักลอบกระทำผิดกฎหมาย  และ 2) มาตรการขยายและยกระดับการให้บริการคลินิกเลิกบุหรี่ครบวงจรให้ครอบคลุมทั่วประเทศ  เพื่อรองรับนักสูบที่ตัดสินใจเลิกบุหรี่  ทั้งนี้ประชาชนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและควบคุมการสูบบุหรี่ หากพบการกระทำผิดสามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนกระทำผิดได้ เช่น กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ  สคร.4 สระบุรี  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ https://tas.go.th เป็นต้น ตัวอย่างการฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น ห้ามจำหน่ายบุหรี่ให้แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน        ปรับสูงสุด 30,000 บาท ห้ามแบ่งจำหน่ายบุหรี่มวน ฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 40,000 บาท และเจ้าของสถานที่มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ และแจ้งเตือนควบคุมไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในพื้นที่ของตนเองที่ได้กำหนดเป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่

สคร.4 สระบุรี ได้ดำเนินการแจ้งประชาสัมพันธ์ข้อกฎหมาย แก่ผู้ประกอบการ ร้านค้า และขอความร่วมมือภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่  เครือข่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์ และประชาชนร่วมกันรณรงค์ผลักดัน เลิกสูบ  ลดเสี่ยง  เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องในรูปแบบสื่อต่างๆ  ผ่านช่องทาง social  media วิทยุ  โทรทัศน์  เคเบิ้ลทีวี  เสียงตามสาย  บอร์ดประชาสัมพันธ์  ด้วยมุ่งหวัง และสนับสนุนให้ประชาชนลดความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ปลอดภัยจากโรค NCD และมีสุขภาพที่ดีต่อไป

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้านหรือโทรสายด่วน  กรมควบคุมโรค 1422 หากต้องการเลิกบุหรี่สามารถเข้ารับคำปรึกษา/รับบริการที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือ สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600


ข่าวสารอื่นๆ