กองป้องกันการบาดเจ็บ
Responsive image

[FP] Fall Facts

Fall Facts: การพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ

1 ใน 3 ของผู้สูงอายุหกล้มทุกปี โดยหลายคนไม่ได้แจ้งแพทย์หรือเข้ารับการรักษา การล้มหนึ่งครั้งสามารถเพิ่มโอกาสล้มซ้ำได้อีกเท่าตัว

ข้อเท็จจริงสำคัญ

  • ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุหกล้มทุกปี
  • ในกลุ่มผู้สูงอายุ การล้มเป็นสาเหตุหลักของการบาดเจ็บที่ทำให้ต้องนอนพักรักษาในโรงพยาบาลมากที่สุดรองจากอุบัติเหตุทางจราจร
  • ในปี 2566 มีผู้สูงอายุเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกว่า 71,035 คน และเสียชีวิตกว่า 1,472
  • มีการบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นกระดูกสะโพกหักกว่า 40,000 รายต่อปี

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หกล้มได้ง่ายขึ้น

  • ปัจจัยเสี่ยงทางด้านร่างกาย การมีโรคประจำตัวเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งของการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ อีกทั้งต้องใช้ยาหลายชนิดที่เพิ่มความเสี่ยงล้ม รองลงมาคือการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ ทำให้ระบบกล้ามเนื้อ การทรงตัว การเคลื่อนไหวร่างกายไม่แข็งแรง นอกจากนี้ภาวะขาดสารอาหาร (เช่น การขาดโปรตีน ธาตุอาหาร วิตามิน) การบาดเจ็บของเท้า ประสาทสัมผัสการรับรู้ที่บกพร่อง ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางด้านร่างกายที่พบได้เช่นกัน
  • ปัจจัยเสี่ยงทางด้านสภาพแวดล้อม ผู้สูงอายุพักอาศัยอยู่ในบ้านที่ไม่ปลอดภัยถึงร้อยละ 80 เกิดเหตุหกล้มในห้องน้ำถึงร้อยละ 30 ยกตัวอย่าง พื้นเปียกลื่น ห้องน้ำไม่มีราวจับ ไม่ใช้เก้าอี้นั่งอาบน้ำ มีพื้นต่างระดับ สิ่งของขวางกั้น มีแสงสว่างไม่เพียงพอ เป็นต้น นอกจากนี้การแต่งกายและการเลือกใช้รองเท้าที่ไม่เหมาะสมมีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มได้เช่นกัน

เมื่อหกล้มแล้วควรทำอย่างไร

  • ควรแจ้งญาติและบุคลากรสาธารณสุขรับทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขความเสี่ยง พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและคัดกรองอาการที่อาจซ่อนอยู่ เช่น เลือดออกในสมอง กระดูกหัก
  • การกลัวล้มซ้ำอาจทำให้เคลื่อนไหวน้อยลง และกลายเป็นวงจรอ่อนแรงที่เพิ่มความเสี่ยงล้มซ้ำ

แหล่งข้อมูล: Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลค่ารักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากสาเหตุพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ICD - 10 (W00 - W19) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) / ข้อมูลจาก: การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562 – 2563 / กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค


ข่าวสารอื่นๆ