สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง
Responsive image

สคร.7 เตือนอันตรายตกน้ำจมน้ำเสียชีวิตช่วงน้ำไหลหลาก เสี่ยงได้ทุกช่วงวัย

สคร.7 เตือนอันตรายตกน้ำจมน้ำเสียชีวิตช่วงน้ำไหลหลาก เสี่ยงได้ทุกช่วงวัย

 

 นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียรผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวเตือนภัยประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม มีน้ำไหลหลากระมัดระวังอันตรายจากการจมน้ำเสียชีวิต กลุ่มเสี่ยงพบได้ทุกช่วงวัย ทั้งวัยแรงงาน เด็ก และผู้อายุ จากพฤติกรรมเสี่ยง ออกเก็บผัก หาปลา ลงเล่นน้ำ หรือสัญจรทางน้ำ จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 4  จังหวัด ได้แก่จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 4 กันยายน 2562 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำแล้ว 2 ราย

ดังนั้นสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่  7  จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีความห่วงใยต่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย จึงขอเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงซึ่งมีน้ำท่วมน้ำไหลหลากกระแสน้ำเชี่ยวแรง ควรตระหนักถึงอันตราย โดยคำนึงถึงมาตรการความปลอดภัย ของกรมควบคุมโรคดังต่อไปนี้  1. ไม่ควรออกเก็บผัก หาปลาและลงเล่นน้ำในขณะที่กระแสน้ำไหลหลากและเชี่ยวแรง เพราะเสี่ยงต่อการถูกกระแสน้ำพัดหรือจมในน้ำลึกได้ หากจำเป็นต้องออกไปเก็บผัก หาปลา ควรไปกันเป็นกลุ่ม ไม่นำเด็กไปด้วย ควรเตรียมอุปกรณ์ชูชีพติดตัวไปด้วยซึ่งสามารถจัดหาหรือทำเองได้ เช่น ลูกมะพร้าวแห้ง, ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก, ขวดน้ำพลาสติกเปล่าผูกเชือกคล้อง 2. ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด  ไม่ใส่เสื้อผ้าหนา หนัก อุ้มน้ำ ไม่ลงจับปลาในเวลากลางคืน หลีกเลี่ยงการลงน้ำหลังรับประทานอาหารใหม่ๆ เพราะเสี่ยงต่อการเป็นตะคริวที่ท้อง  3.ไม่ควรปล่อยให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อยู่ตามลำพัง เช่น ผู้ป่วยโรคลมชัก ความดันโลหิต เบาหวาน โรคหัวใจหลอดเลือด 4.ผู้ปกครองดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดไม่ปล่อยให้เด็กลงเล่นน้ำ  ควรกำหนดให้มีบริเวณที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก สอนให้เด็กรู้จักอันตรายที่เกิดขึ้นได้ในช่วงน้ำท่วม และเตรียมอุปกรณ์ลอยน้ำติดตัวหรืออยู่ในที่สะดวกต่อการนำมาใช้เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เช่น เสื้อชูชีพ ลูกมะพร้าว, ถังแกลลอนเปล่า,ขวดน้ำพลาสติกเปล่าผูกเชือกคล้อง ,ไม้  หรือเชือก

นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร กล่าวเน้นย้ำ ถึงผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด และหากพบเห็นคนตกน้ำ จมน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะคนจมน้ำจะตื่นตระหนกตกใจหากลงไปช่วย  คนจมน้ำจะเกาะดึงตัวผู้ช่วยไว้แน่น จะทำให้จมน้ำเสียชีวิตไปด้วยกัน  ขอให้ยึดหลัก “ตะโกน  โยน  ยื่น” ได้แก่ 1.)ตะโกน เพื่อร้องขอความช่วยเหลือและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพฉุกเฉิน 1669    2.)โยน อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนจมน้ำเกาะหรือจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ห่วงยาง เสื้อชูชีพ หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น ซึ่งวิธีนี้จะมีความปลอดภัยต่อผู้ช่วยเหลือด้วย เพราะสามารถโยนจากบนฝั่งหรือน้ำตื้นได้ ลดความเสี่ยงตกน้ำไปด้วย และ  3.) ยื่น อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว       ให้คนตกน้ำจับ เช่น ท่อนไม้ เข็มขัดเสื้อผ้า ผ้าขาวม้า เพื่อให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ หลังจากช่วยคนจมน้ำขึ้นฝั่งมาได้แล้วให้จับนอนบนพื้นราบที่แห้งและแข็ง ห้ามจับคนจมน้ำอุ้มพาดบ่า กระโดดหรือวิ่งรอบสนาม เพราะจะเป็นอันตรายและทำให้ขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น กรณีคนจมน้ำไม่รู้สึกตัว ให้ช่วยด้วยการเป่าปากและนวดหัวใจและควรนำส่งโรงพยาบาลทุกราย  ทั้งที่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกตัว หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

 

........................................................................

ข้อมูลจาก: กองโรคไม่ติดต่อ/ สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์ ๐๒-๕๙๐-๓๘๕๗ วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๒

เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ

ศูนย์รับข้อร้องเรียนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จ.ขอนแก่น

หมายเลข ๐๔๓-๒๒๒๘๑๘-๙ ต่อ ๒๒๔

http://odpc7.ddc.moph.go.th

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ [email protected]

 


ข่าวสารอื่นๆ