สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง
Responsive image

สปคม. กรมควบคุมโรคแนะนำ 5 ย. ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และผู้เลี้ยงนำสุนัข แมวไปรับการวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี

สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรคแนะนำ 5 ย. ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และผู้เลี้ยงนำสุนัข แมวไปรับการวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี

จากสถานการณ์ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่1 ม.ค. – 31 ส.ค. 62 พบผู้เสียชีวิต 2 ราย ในจังหวัดสุรินทร์ และนครศรีธรรมราช เนื่องจากไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง และจำนวนผู้สัมผัสโรคที่เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้นจาก 294 ราย
ในปี2561 เป็น 550,481 ราย ในปี 2562 ในขณะที่
กรมปศุสัตว์ รายงานสถานการณ์ปี 2561 มีตัวอย่างส่งตรวจทั้งหมด 9,275 ตัวอย่าง พบผลบวกทั้งหมด 1,469 ตัวอย่าง สัตว์ที่พบได้แก่ สุนัข 1,281 ตัว โค 117 ตัว แมว 51 ตัว กระบือ 15 ตัว แพะ 2 ตัว ม้า กวาง และสุกร ชนิดละ 1 ตัว ส่วนสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2561 – 4 ตุลาคม 2562 มี 48 จังหวัด ประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ 27 จุด 13 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สระบุรี นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง สระแก้ว สุรินทร์ หนองคาย เพชรบุรี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา  พื้นที่ควบคุมโรค ต้องควบคุมจุดเกิดโรค โดยฉีดวัคซีนให้สัตว์กลุ่มเสี่ยงทุกตัวในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบจุดเกิดโรค (ข้อมูลจากสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2562)

นายแพทย์เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัส คนติดเชื้อจากการถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ข่วน เลีย หรือน้ำลายเข้าสู่บาดแผล โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยเมื่อสัมผัสโรคแล้ว ควรล้างแผล ใส่ยาฆ่าเชื้อ และรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค และต้องเข้ารับอย่างต่อเนื่องครบชุด  ยึดหลักป้องกัน ที่ดีที่สุด “คาถา 5 ย. ” เพื่อลดเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า 

  1. อย่าแหย่ ให้สัตว์โมโหเพราะอาจจะโดนกัดหรือข่วนได้
  2. อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์
  3. อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า
  4. อย่าหยิบ จานข้าวหรืออาหารขณะสัตว์กำลังกิน
  5. อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักหรือคุ้นเคย เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

นอกจากนี้การป้องกันโดย เจ้าของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อมีอายุได้ 2 – 4 เดือน ครั้งแรกฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน และฉีดซ้ำทุกๆ ปี

**หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

       

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ