สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่
Responsive image

สคร. 1 เชียงใหม่ ร่วมรณรงค์วันความดันโลหิตสูงโลก ปี 2567

สคร. 1 เชียงใหม่ เน้นย้ำให้ประชาชนวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อ

         แพทย์หญิงเสาวนีย์ วิบุลสันติ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day) ในปี 2567 นี้ สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ คือ "Measure Your Blood Pressure Accurately, Control It, Live Longer : วัดความดันอย่างไร สูงเกินไปคุมให้ดี ช่วยยืดชีวีให้ยืนยาว” มุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถวัดความดันโลหิตได้อย่างถูกต้อง สามารถแปลผลความดันโลหิตได้ และทราบวิธีปฏิบัติตัวเมื่อป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตสูงถึงแม้จะไม่มีอาการหากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ และไม่ได้รับการรักษา ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้นอาจมีอาการแสดงต่าง ๆ ได้แก่ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หน้ามืด ใจสั่น ตาพร่ามัว เป็นลมหมดสติ และเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา ได้แก่ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจขาดเลือด และโรคไตเรื้อรัง ซึ่งส่งผลให้เกิดความพิการและเสียชีวิตได้ ดังนั้นประชาชนควรวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมความดันโลหิตให้น้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท ถ้าเกิน 130/80 มิลลิเมตรปรอท คือ เริ่มสูง ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าป่วยเป็นความดันโลหิตสูงต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และเข้ารับการรักษาถ้าเกิน 160/100 มิลลิเมตรปรอท คือ สูงมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และถ้าเกิน 180/110 มิลลิเมตรปรอท สูงถึงขีดอันตรายต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

         ทั้งนี้ หากป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยการรับประทานยาลดความดันโลหิตตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ควรหยุดยาเอง ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 14 ล้านคน ขึ้นทะเบียนรักษาเพียง 7 ล้านคน ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ในระยะยาว จะส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ