สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่
Responsive image

สคร. 1 เชียงใหม่ เตือนประชาชน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน รับมือปัญหาหมอกควันPM2.5 อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

       แพทย์หญิงเสาวนีย์ วิบุลสันติ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ ซึ่งสาเหตุมาจากการเกิดไฟป่าหรือการเผาขยะต่างๆ และเผาไร่สวนเพื่อเตรียมที่ดินไว้สำหรับทำการเกษตร ดังนั้นปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบน จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง 

         แพทย์หญิงเสาวนีย์ กล่าวต่อว่า ปัญหาหมอกควันส่งผลกระทบให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ใน 2 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองและสมองอุดตัน และกลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงป่วยจาก 4 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว 2.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล แสบจมูกและลำคอ 3.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น อาการคันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย และ 4.กลุ่มโรคตาอักเสบ เช่น อาการแสบหรือคันตา ตาแดง น้ำตาไหล และมองภาพไม่ค่อยชัด ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด หอบหืด ภูมิแพ้ เป็นต้น  หากได้รับมลพิษจากหมอกควันเข้าสู่ร่างกาย  อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไป ขอให้ประชาชนในพื้นที่ ไม่เผา โดยขอความร่วมมือประชาชนและชุมชนให้หยุดการเผาไร่สวน และขยะต่างๆ ไม่เสี่ยง โดยขอความร่วมมือประชาชนไม่ทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานานในช่วงที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานหรือมีระดับที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสหมอกควัน และไม่ป่วย โดยการป้องกันตนเองในสถานการณ์หมอกควันรุนแรง ทั้งนี้ ขอแนะนำประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ลดกิจกรรมนอกบ้านและอยู่ภายในบ้านหรือในอาคารให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง แต่หากจำเป็นให้ตรวจสอบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากแอปพลิเคชัน “Air4Thai” และเว็บไซต์ www.air4thai.com ของกรมควบคุมมลพิษทุกครั้งก่อนเดินทาง เพื่อประเมินความเสี่ยงในการสัมผัสฝุ่น และหาวิธีป้องกันตนเองที่เหมาะสมต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ