สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ เตือน ระวังอันตรายเด็กเสี่ยงจมน้ำสูงสุด ช่วงปิดเทอม แนะผู้ปกครองดูแลเอาใจใส่บุตรหลานอย่างใกล้ชิด
แพทย์หญิงเสาวนีย์ วิบุลสันติ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า อันตรายที่เกิดกับเด็กในช่วงปิดเทอมใหญ่ของทุกปีมักเกิดจากการจมน้ำเสียชีวิต อากาศที่ร้อนทำให้เด็ก ๆ อยากเล่นน้ำเพื่อคลายความร้อน รวมถึงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของการเสียชีวิตอันดับ 1 ในเด็กช่วงปิดเทอม สาเหตุการจมน้ำในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งเด็กเล็กจมน้ำได้แม้ในภาชนะที่มีน้ำสูงเพียง 1 – 2 นิ้ว เด็กเล็กมักจมน้ำในภาชนะขนาดเล็กที่อยู่ภายในบ้าน เช่น ถัง กะละมัง โอ่งเด็กเล็กมักเดินตามเป็ดหรือสุนัข และพลัดตกลงไปในน้ำ ผู้ปกครอง/ผู้ดูแลเด็กปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังในช่วงเวลาที่ทำกิจกรรมบางอย่างเพียงระยะเวลาสั้นๆ เช่น เข้าห้องน้ำ คุยโทรศัพท์ ทำกับข้าว, ผู้ปกครอง/ผู้ดูแลเด็ก ไม่มีการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยงที่อยู่ในบ้าน สำหรับสาเหตุการจมน้ำในกลุ่มเด็กโต มักเกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำ ประกอบกับการไม่รู้วิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำและวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง เมื่อตกน้ำจึงลอยตัวอยู่ในน้ำได้ไม่นาน และจมน้ำเสียชีวิตในที่สุด เด็กวัยนี้จะเสียชีวิตพร้อมกันครั้งละหลายๆคน เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก พอเห็นเพื่อนหรือน้องตกน้ำ คิดว่าตนเองว่ายน้ำเป็นก็กระโดดลงไปช่วย แต่สุดท้ายจะถูกกอดรัดและจมน้ำไปด้วยกัน เด็กไม่มีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ เช่น หนีผู้ใหญ่ไปเล่นน้ำกันเอง ไม่ปฏิบัติตามป้ายเตือน ไม่ใส่ชูชีพขณะลงเรือ พลัดตกน้ำเพราะเดินใกล้ขอบบ่อเกินไป ชุมชนขาดการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยงที่มีอยู่ในชุมชน เช่น การติดป้ายคำเตือน การสร้างรั้ว หรืออุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ
แพทย์หญิงเสาวนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการป้องกันการจมน้ำสำหรับเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี เน้นใช้มาตรการ “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” อย่าเข้าใกล้ แหล่งน้ำ เพราะอาจลื่นพลัดตกลงไปในน้ำ, อย่าเก็บ สิ่งของที่ตกลงไปในน้ำด้วยตนเอง ต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยเก็บ, อย่าก้ม หรือชะโงกลงไปในแหล่งน้ำ ตุ่มน้ำ ถังน้ำ เพราะอาจหัวทิ่มลงไปในน้ำได้ส่วนกลุ่มเด็กโต เน้นห้ามไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง หากพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจะถูกกอดรัดจากผู้ประสบภัย และอาจจมน้ำ และเสียชีวิตไปพร้อมกัน ควรใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น”