สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) โดยแพทย์หญิงฝนทิพย์ วัชราภรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ได้รับคัดเลือกจากมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) เสนอชื่อ ให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมโครงการ Young Physician Leaders (YPL) ที่จัดขึ้นโดย The Inter Academy Partnership (IAP) เมื่อเร็วๆนี้ (ระหว่างวันที่ 24 – 29 ตุลาคม 2562) ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
...นอกจากนี้ พญ.ฝนทิพย์ วัชราภรณ์ ยังได้เป็นหนึ่งใน Panelist ในงาน World Health Summit 2019 โดยได้ร่วมอภิปรายในประเด็นเกี่ยวกับ Young Physician Leaders: The Leadership We Want ภายใต้หัวข้อหลักคือ Better Leadership: Improved Health ร่วมกับ Professor Jo Ivey Boufford, President of International Society for Urban Health (ISUH), Dr. Nora Ilona Grasselli, Program Director of ESMT European School of Management and Technology GmbH และ ตัวแทน Young Physician Leaders จากประเทศอื่นๆ เช่น สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ฮังการี และสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เป็นต้น ท่ามกลางผู้เข้าประชุมประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ที่มีความโดดเด่นที่ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรในระดับสากลอีก 23 ท่าน จาก 21 ประเทศทั่วโลก ซึ่งโครงการดังกล่าว ได้จัดคู่ขนานไปกับการประชุม World Health Summit 2019 ซึ่งเป็นการประชุมชั้นนำในระดับนานาชาติเพื่อขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพโลก( Global Health)
...วัตถุประสงค์ของโครงการ Young Physician Leaders (YPL) เพื่อเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้นำทางการแพทย์รุ่นใหม่ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพและพัฒนาระบบสาธารณสุขต่อไปในอนาคต
...โครงการ Young Physician Leaders (YPL) ได้มีการกล่าวถึงประเด็นต่างๆ ได้แก่ คุณลักษณะของผู้นำที่พึงประสงค์ ปัญหาที่ท้าทายความเป็นผู้นำที่พบได้บ่อย สิ่งที่ควรพัฒนาหากต้องการเป็นผู้นำที่ดี ปัจจัยที่มีผลต่อรูปแบบความเป็นผู้นำ การตัดสินใจและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ รูปแบบภาวะผู้นำ ตัวแปรสำคัญเป็นองค์ประกอบของบรรยากาศขององค์กร ทั้งนี้หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือ “ภาวะผู้นำแปรผันโดยตรงกับบรรยากาศขององค์กรและคุณภาพของบรรยากาศสามารถมีผลกระทบต่อองค์กรทั้งหมดได้”
...ในขณะที่การประชุม World Health Summit 2019 ได้ให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change)
2. ประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage)
3. ประเด็นการเปลี่ยนแปลงองค์กรโดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation)
โดยสรุปคือ “การขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพโลก หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่สามารถดำเนินการโดยแยกจากกันได้”
...ทั้งนี้พญ.ฝนทิพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ได้ให้ข้อเสนอแนะที่สามารถนำมาปรับใช้กับองค์กรได้ ดังนี้
1) หน่วยงาน ควรวางแนวทางในการพัฒนาความเป็นผู้นำของบุคลากรในหน่วยงานอย่างเป็นระบบและเหมาะสม เพื่อในอนาคต บุคลากรจะได้มีความเป็นผู้นำ และสามารถขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
2) เพื่อการขับเคลื่อนงานของ สปคม.ให้เป็นที่ยอมรับ นอกเหนือจากที่สปคม.จะดำเนินงานด้านสาธารณสุขโดยมุ่งเน้นในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นแล้ว ข้อเสนอแนะควรให้ความสำคัญกับวาระสุขภาพที่เป็นประเด็นในระดับโลก เพื่อวางทิศทางการขับเคลื่อนงานสาธารณสุขให้สอดคล้องกับ Global Health Agenda และสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนวาระเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากหลาย Global Health Agenda
อาจมีผลต่อการดำเนินงานด้านสาธารณสุขของไทยได้
https://www.youtube.com/embed/2s21DkkB6Pk
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร