สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี
Responsive image

28 ก.ย. วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก สคร.12 สงขลา ชวนนำสัตว์เลี้ยงฉีดวัคซีน 

28 ก.ย. วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก สคร.12 สงขลา ชวนนำสัตว์เลี้ยงฉีดวัคซีน 

 

    สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ชวนประชาชนนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องในวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก 28 กันยายน ของทุกปี ย้ำ โรคพิษสุนัขบ้า เมื่อแสดงอาการแล้ว ตาย 100% ไม่มียารักษาแต่ป้องกันได้ ด้วยการฉีดวัคซีน เมื่อถูกกัดแล้ว อย่าชะล่าใจ ให้ไปพบแพทย์ทันที
โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ (Rabies virus) เป็นโรคติดต่อจากการถูกสัตว์เลือดอุ่น โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีรอยแผล รอยข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าตา ปาก จมูก สัตว์ที่เป็นตัวนำโรคที่สำคัญ คือ สุนัข แมว และอาจพบในสัตว์อื่น ๆ เช่น กระรอก กระแต กระต่าย ชะนี  หนู ลิง เป็นต้น ส่วนใหญ่เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการหลังจากรับเชื้อ 15 – 60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วัน หรือนานเป็นปี อาการเริ่มแรกของผู้ป่วย คือปวดศีรษะ มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมามีอาการคัน มักเริ่มจากบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบๆ ร้อนๆ แล้วลามไปส่วนอื่น นอกจากนี้จะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสงกลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง  มีอาการกลืนลำบาก ทำให้ไม่อยาก ดื่มน้ำ มีอาการกลัวน้ำ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกหรืออาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตภายใน 2 –  7 วันนับจากวันเริ่มแสดงอาการ    
    นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กันยายน ของทุกปี โดยในปี 2563 ภายใต้ประเด็นรณรงค์ที่ว่า “End Rabies: Collaborate, Vaccinate” สังคมร่วมใจ ประเทศไทยปลอดพิษสุนัขบ้า ร่วมกันพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ทั้งนี้ สคร.12 จังหวัดสงขลา ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนนำสัตว์เลี้ยง (สุนัข แมว) ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครั้งแรกเมื่ออายุ 2 - 4 เดือน หลังจากนั้น 1 เดือน ให้ฉีดกระตุ้นซ้ำอีก 1 ครั้ง (ฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกในปีแรก) และจากนั้นฉีดกระตุ้น 1 เข็มซ้ำทุก ๆ ปีตลอดชีวิต ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ 
“ที่สำคัญทุกคนสามารถป้องกันตัวเองจากการถูกสัตว์กัดหรือข่วนด้วย คำแนะนำ 5 ย. คือ อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ”
ทั้งนี้ หากถูกสุนัข แมว หรือสัตว์อื่นๆ กัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรค หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค

ข่าวโดย: กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ สคร.12 สงขลา 
 E-mail: [email protected] ( 25 กันยายน 2563)
 

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ