โรคหัวใจมีหลายชนิดและมีสาเหตุของการเกิดโรคที่แตกต่างกัน โดยจากการรายงานสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2563 พบว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคนี้ประมาณ 17.9 ล้านคน และจากสถิติข้อมูลการเสียชีวิตของคนไทย ในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด พบว่า ร้อยละ 80 เสียชีวิตด้วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อีกทั้งข้อมูลจากกรมการแพทย์ ปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคหัวใจถึง 6,906 ล้านบาทต่อปี
โรคหัวใจขาดเลือด เกิดจากการที่หลอดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจมีการตีบหรือตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ โดยเกิดจากการที่มีคราบไขมันไปสะสมที่ผนังหลอดเลือดแดงด้านใน และคราบไขมันนี้มีการปริแตก กระตุ้นทำให้เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันเส้นเลือดนั้นอย่างเฉียบพลัน ในกรณีที่หัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้อย่างทันที รวมถึงอาจจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง ในบางคนจะมีอาการหน้ามืดหมดสติหรือถึงขั้นเสียชีวิตเฉียบพลัน ส่วนกรณีที่เป็นหัวใจขาดเลือดชนิดเรื้อรัง ในระยะยาวจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับเลือดไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ได้แก่ คนที่มีอายุค่อนข้างมาก มีประวัติของการสูบบุหรี่ มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในหลอดเลือดสูง หรือมีประวัติของสมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดเหมือนกัน รวมทั้งพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เช่น การไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารรสจัดปริมาณมากเป็นประจำ เช่น หวาน มัน เค็ม และความเครียด เป็นต้น
นางสุภาพร พุทธรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า วันที่ 29 กันยายนของทุกปี สมาพันธ์หัวใจโลกได้กำหนดให้เป็นวันหัวใจโลก เพราะต้องการให้ทุกประเทศตระหนักและเร่งแก้ไขปัญหา พร้อมกับร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน เพราะเป็นสาเหตุของการป่วยและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โรคนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว แม้จะสามารถรักษาได้ก็จริง แต่การป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดโรค เป็นวิธีที่ดีที่สุดเพราะทำได้ง่าย และประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งการตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อการดำรงชีวิตเมื่อป่วยเป็นโรคหัวใจ และการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น ประชาชนควรเริ่มดูแลตัวเอง โดยการเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม เน้นทานผัก และผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสม หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาที พักผ่อนให้เพียงพอ งดการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ และหมั่นสังเกตตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดเบื้องต้นผ่านเว็บไซต์ Thai CV risk Score หรือดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Thai CV risk Calculator พฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยทำให้ลดจำนวนผู้ป่วยลงได้ และสิ่งสำคัญที่ประชาชนควรเฝ้าระวัง คือ สัญญาณเตือนของโรคหัวใจ เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกแบบบีบเค้นครึ่งชั่วโมง เหงื่อแตก ให้รีบไปโรงพยาบาลด่วน สามารถโทรเรียก 1669 เพื่อนำส่งโรงพยาบาลได้ หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
อ้างอิงข้อมูล : กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค