สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี
Responsive image

วัณโรค รู้ทัน ป้องกันความเสี่ยง “รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจายเชื้อ ไม่ตีตรา”

วัณโรค รู้ทัน ป้องกันความเสี่ยง

“รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจายเชื้อ ไม่ตีตรา”

         โรควัณโรคถือว่าเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของโลก โดยเป็นหนึ่งใน 3 โรค อันเป็นเหตุทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตมากที่สุดหากนับรวมโรคเอดส์ และโรคมาเลเรีย ในวันที่ 24 มีนาคม ของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็น “วันวัณโรคโลก (WORLD TUBERCULOSIS DAY)” เพื่อให้ร่วมมือกันควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนเล็งเห็นและตระหนักถึงอันตรายจากวัณโรค Yes We Can End TB ยุติวัณโรค เราทำได้”

         สถานการณ์วัณโรคทั่วโลกจาก 'องค์การอนามัยโลก' ระบุว่า  แต่ละปีมีผู้ป่วยประมาณ 10 ล้านคน โดยในปี 2566 สถานการณ์ผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทยประมาณการจำนวนผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 111,000 คน แต่มีการรายงานการขึ้นทะเบียนรักษาเพียง 72,274 คน และเสียชีวิตจากวัณโรค ปีละ 13,700 คน โดยเป็นผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยเสียชีวิต 2100 คน สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีโอกาสจะป่วยเป็นวัณโรค ประกอบไปด้วย กลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคปอด กลุ่มผู้ต้องขังผู้อาศัยในสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการ/สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ผู้ป่วยไตเรื้อรังหรือได้รับยากดภูมิ กลุ่มผู้สูงอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 65 ปีที่สูบบุหรี่หรือมีโรคร่วม ปอดอุดกั้นเรื้อรัง เบาหวาน กลุ่มผู้ใช้สารเสพติด ติดสุราเรื้อรัง และกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข

         สถานการณ์วัณโรคในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 6 ปี 2566 คาดประมาณผู้ป่วยวัณโรคจำนวน 8,920 คน พบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับเป็นซ้ำขึ้นทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 8,171 คน คิดเป็น TB Treatment Coverage ร้อยละ 91.6  โดยพบมีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา จำนวน 114 คน นอกจากนี้พบผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตระหว่างรักษา ร้อยละ 8.4  ขาดยา ร้อยละ 4.6 ซึ่งกลุ่มที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคร่วมหลายโรค ผู้ป่วยที่มี HIV ร่วมและยังพบปัญหาผู้ป่วยขาดยา 

        วัณโรคเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อจากคนสู่คนผ่านอากาศ โดยเมื่อผู้ป่วยไอ จาม ไม่ปิดปากทำให้เกิดละอองฝอย ผู้อยู่ใกล้สูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดการติดเชื้อและป่วยได้  โดยวัณโรคพบได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่พบมากคือวัณโรคปอด

        อาการสำคัญของวัณโรคปอด คือ ไอแห้งๆ ติดต่อเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะปนเลือด อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด  เจ็บหน้าอก ไข้ต่ำๆ 

        การตรวจวินิจฉัยโรค โดยการเอ็กซเรย์ปอด และตรวจเสมหะหาเชื้อวัณโรค 

        การป้องกันโรค เด็กแรกเกิดควรได้รับการฉีดวัคซีน BCG (วัคซีนแรกเกิด) ประชาชนทั่วไปควรดูแลสุขภาพออกกำลังกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตรวจการทำงานของปอด เลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค โดยเฉพาะผู้สัมผัสผู้ป่วยใกล้ชิด บุคลากรทางการแพทย์ ควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อคัดกรองโรค  และหากมีอาการน่าสงสัยว่าจะเป็นวัณโรค ควรรีบไปพบแพทย์

        วัณโรครักษาหายได้  มียารักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้เวลารักษา 6-8 เดือน ต้องกินยาครบทุกเม็ด ทุกมื้อ ไม่หยุดยาเอง หากรักษาไม่ต่อเนื่อง หยุดยาเอง  อาจก่อให้เกิดเชื้อดื้อยา ต้องใช้เวลาในการรักษานาน 9-18 เดือน  การใช้กลยุทธ์ “ค้นให้พบ จบด้วยหาย” ในการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคให้เข้าสู่ระบบให้เร็วที่สุดตลอดจนดูแลรักษาให้หายจากวัณโรค เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้างส่งผลต่อการลดจำนวนผู้ป่วยวัณโรค แต่การลดอัตราป่วยวัณโรครายใหม่ลงจะทำได้สำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การยุติวัณโรคเพื่อให้เมืองไทยปลอดวัณโรค สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422                                                                                                                                                    

อ้างอิงข้อมูล : กองวัณโรค กรมควบคุมโรค/งานวัณโรค ศูนย์พัทยารักษ์

 

 

 


ข่าวสารอื่นๆ