สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี
Responsive image

สคร.6 ชลบุรี เตือนระวังการนำเห็ดป่ามาปรุงอาหาร อาจเป็น “เห็ดพิษ” อันตรายถึงชีวิต “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน”

สคร.6 ชลบุรี เตือนระวังการนำเห็ดป่ามาปรุงอาหาร อาจเป็น

“เห็ดพิษ” อันตรายถึงชีวิต “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน”

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี เตือนประชาชนให้ระวังการเก็บเห็ดป่ามาปรุงอาหาร เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกลงมาหลายพื้นที่ ทำให้เห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งมักพบได้บริเวณพื้นที่สวน พื้นที่ป่าธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งเห็ดกินได้ และเห็ดพิษ เมื่อเห็ดอยู่ในระยะดอกตูม จะมีความคล้ายคลึงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และนำเห็ดพิษมาปรุงประกอบอาหารได้ เห็ดที่ขึ้นในป่า มีลักษณะคล้ายกันจนบางครั้งไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นเห็ดที่กินได้หรือเห็ดพิษ  และเมื่อกินเห็ดพิษเข้าไป จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าเป็นเห็ดพิษไม่ควรนำมาปรุงอาหาร           

         จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 20 ก.ค. 2566 พบผู้ป่วย 253 ราย สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 6พบรายงานผู้ป่วย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 กันยายน 2566 ***ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน พบผู้ป่วยจำนวน 90 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 35-54 ปี แยกผู้ป่วยที่พบเป็นรายจังหวัด ดังนี้ สระแก้ว จำนวน 36 ราย ปราจีนบุรี จำนวน 23 ราย จันทบุรี จำนวน 13 ราย ชลบุรี จำนวน 7 ราย ฉะเชิงเทรา จำนวน 4 ราย สมุทรปราการ จำนวน 3 ราย ระยอง จำนวน 2 ราย ตราดจำนวน 1 ราย ***เหตุการณ์ที่พบ ผู้ป่วยเก็บเห็ดไม่ทราบชนิดสายพันธุ์ นำมาปรุงประกอบอาหาร  

          สำหรับเห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เช่น

1) เห็ดระโงกพิษ หรือบางที่เรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว ที่กินได้แต่มีลักษณะต่างกัน คือ เห็ดระโงกพิษ รอบขอบหมวกไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน เมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน 

2) เห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านเล็กที่กินได้ ขนาดดอกจะเล็กกว่า และไม่มีน้ำยางสีแดงส้ม 

3) เห็ดเมือกไครเหลือง ที่ประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า 

4) เห็ดหมวกจีน มีความคล้ายกับเห็ดโคนที่กินได้ เป็นต้น

          ***วิธีที่ผิด!! ในการทดสอบความเป็นพิษของเห็ด ห้ามทำตาม!!

- นำมาล้างน้ำผสมเมล็ดข้าวสาร หากเมล็ดข้าวสารไม่เปลี่ยนสีถือว่าเป็นเห็ดที่กินได้ แต่ถ้าเมล็ดข้าวสารเปลี่ยนสีเป็นสีเขียว หรือสีเหลือง จะเป็นเห็ดที่มีพิษกินไม่ได้

- ต้มเห็ดพิษกับข้าวหรือหอมแดงแล้วจะทำให้ข้าวเปลี่ยนสี

- จุ่มช้อนหรือตะเกียบเงินเครื่องเงินแล้วจะทำให้เงินเป็นสีดำ

***ทั้งนี้ วิธีการเหล่านี้เป็นความเชื่อ ไม่สามารถใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ดได้ เห็ดบางชนิดโดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะนำมาทำให้สุกแล้วก็ไม่สามารถทำลายพิษได้  หากพบ “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน” เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

 

 

อ้างอิงข้อมูล โดย กลุ่มโรคติดต่อ สคร.6 ชลบุรี /กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค


ข่าวสารอื่นๆ