สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี
Responsive image

สคร.6 เผยพื้นที่เขตสุขภาพที่ 6 พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า รายที่ 3 นับเป็นรายที่ 7 ของประเทศในรอบปีนี้ รายล่าสุดไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังถูก

สคร.6 เผยพื้นที่เขตสุขภาพที่ 6 พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า รายที่ 3 นับเป็นรายที่ 7

ของประเทศในรอบปีนี้ รายล่าสุดไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังถูก "สุนัขจรจัดกัด"

แนะประชาชน หากถูกสุนัขกัด ให้รีบฉีดวัคซีนทันที

          สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี เผยสถานการณ์ "โรคพิษสุนัขบ้า" พื้นที่เขตสุขภาพที่ 6 ปีนี้พบผู้เสียชีวิต 3 ราย รายล่าสุดไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังถูก "สุนัขจรจัดกัด"

           แพทย์หญิงลานทิพย์ เหราบัตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี กล่าวถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2568 ล่าสุด มิถุนายน 2568 เขตพื้นที่สุขภาพที่ 6 หรือภาคตะวันออกพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มอีก 1 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 55 ปี ที่จังหวัดระยอง ถือเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 3 ของพื้นที่เขตฯ 6 หรือภาคตะวันออก และเป็นรายที่ 7 ของประเทศ จากการสอบสวนโรคพบว่าผู้เสียชีวิตมีประวัติถูกสุนัขจรจัดกัด จากการให้อาหารข้างทาง และไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแต่อย่างใด เนื่องจากสถานการณ์ของโรคพิษสุนัขบ้าที่เกิดขึ้น ขอเตือนประชาชนที่ให้อาหารสุนัขจรจัด รวมถึงผู้เลี้ยงสัตว์ทุกท่าน ให้เพิ่มความระมัดระวังในการเข้าใกล้สัตว์โดยเฉพาะสัตว์ที่มีพฤติกรรมผิดปกติ หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง และควรสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยของตนเองและคนรอบข้าง

          จากกรณีนี้ขอเตือนว่า ประชาชนที่ถูกสุนัข แมว แม้จะเป็นเพียงลูกสุนัข ลูกแมว ก็ตาม หากถูกกัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้เพียงเล็กน้อย ไม่มีเลือดออกที่แผล ก็อย่าชะล่าใจ ต้องรีบล้างแผล ด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด และรีบไปพบแพทย์  เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากถูกกัดแล้วควรไปฉีดวัคซีนป้องกันทันที ภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังถูกกัด และต้องได้รับวัคซีนครบชุดตามเวชปฏิบัติตามคำแนะนำของ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงพอต่อการป้องกันโรค  สามารถไปรับบริการฉีดวัคซีนในสถานพยาบาลใกล้บ้าน และที่สำคัญควรกักสัตว์ที่กัดเพื่อดูอาการอย่างน้อย 10 วัน (อ้างอิงข้อมูล :กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรคติดต่อ. โรคพิษสุนัขบ้าและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง.(กรุงเทพฯ): กระทรวงสาธารณสุข. (จุลสาร))

          ยังมีประชาชนที่ยังไม่เห็นถึงอันตรายของโรคนี้ ทั้งที่เป็นโรคโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดสามารถนำเชื้อนี้สู่คนได้ทางน้ำลาย ผ่านการกัด ข่วน หรือเลียโดนผิวหนังเปิดหรือเป็นแผล โดยสัตว์ที่พบเป็นโรคพิษสุนัขบ้าบ่อยและเสี่ยงติดสู่คนมากที่สุดคือสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข และ แมว ทันทีที่เสี่ยงรับเชื้อต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบตามจำนวน เพราะระยะฟักตัวหลังได้รับเชื้อไม่แน่ชัดขึ้นอยู่กับตำแหน่งและปริมาณเชื้อที่ได้รับ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน บางรายอาจนานถึง 1 ปี หากปล่อยจนผู้ติดเชื้อแสดงอาการแล้วจะไม่สามารถรักษาได้ ต้องเสียชีวิตทุกราย โดยอาการที่จะแสดงส่วนใหญ่คือมักมีไข้ ปวดศีรษะ คันรุนแรงบริเวณบาดแผล คลุ้มคลั่งกลัวแสง กลัวลม กลืนน้ำหรืออาหารลำบาก

          แพทย์หญิงลานทิพย์ เหราบัตย์ ผอ.สคร.6 กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประชาชนที่มีสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข และแมว
ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนครั้งแรก เมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2 – 4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี ไม่ควรปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง โดยไม่ใส่สายจูง หากพบสุนัขหรือแมวมีอาการดุร้ายหรือเซื่องซึมจนป่วยตายผิดปกติ ขอให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที  เทคนิคการลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัด หรือทำร้าย ควรยึดหลักคาถา 5 ย. คือ อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ อย่าเหยียบหาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบ ชามข้าวหรือย้ายอาหาร ขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และอย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัข หรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน    

 

จัดทำโดย : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ สคร.6

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ