สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี
Responsive image

สคร.6 ชลบุรี พัฒนาศักยภาพบุคลากร เน้นย้ำมาตรการ ป้องกันโควิด 19 อย่างยั่งยืน

      

สคร.6 ชลบุรี พัฒนาศักยภาพบุคลากร เน้นย้ำมาตรการ ป้องกันโควิด 19 อย่างยั่งยืน

 

           เขตสุขภาพที่ 6 เตรียมความพร้อมบุคลากรเน้นย้ำการปฎิบัติงานแนวทางการจัดการสถานที่กักกันโรคแห่งรัฐ รวมถึงด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ในระดับเขตสุขภาพ และระดับจังหวัด เสริมสร้างความเข้าใจและสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

           วันที่ 22 กรกฎาคม 2563 นายแพทย์อภิชาติ รอดสม สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 6 เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฎิบัติการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการป้องกันควบคุมโรคเพื่อรองรับการจัดตั้งสถานกักกันโรคแห่งรัฐ จัดโดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการบริหารจัดการสถานกักกันโรคแห่งรัฐแบบบูรณาการให้ได้ตามมาตรฐาน ซักซ้อมความเข้าใจแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2549 ฉบับที่ 6 และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการดำเนินงานของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตามกล่องภารกิจศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน สคร.6 ชลบุรี และถ่ายทอดสดการประชุมผ่านระบบ ZOOM กับผู้บริหารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในพื้นที่ 8 จังหวัด (สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด) ตามรูปแบบ Meeting New Normal ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ ระยอง อ.เมือง จ.ระยอง

          นายแพทย์อภิชาติฯ กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 6 เป็นพื้นที่ซึ่งมีการจัดตั้งสถานที่กักกันแห่งรัฐ (State quarantine) โดยความร่วมมือของกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข มากที่สุดในประเทศ คือ 17 State quarantine ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ และเขตเมืองพัทยา จ.ชลบุรี จำนวนห้องพักอยู่ที่ 5,481 ห้อง รวมถึง Local quarantine กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่ติดแนวชายแดน มีด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ จำนวน 11 แห่ง ประกอบด้วย ด่านท่าอากาศยานนานาชาติ จำนวน 1 แห่ง ด่านท่าเรือ จำนวน 5 แห่ง และด่านพรมแดนบก จำนวน 5 แห่ง รวมถึงพื้นที่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้เดินทางเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเขตพื้นที่เสี่ยงเกิดภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขทั้งในพื้นที่และระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจในมาตรการและข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และมีการปฏิบัติงานที่เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเข้มแข็งต่อไป การจัดประชุมในครั้งนี้ จึงได้มีการถอดบทเรียนการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานตามภารกิจศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน เพื่อนำมาตอบโจทย์การทำงาน นำมาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และปรับปรุงในส่วนที่ยังมีปัญหา เนื่องจากโรคโควิด-19  ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ การทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานมักพบเจอโจทย์ใหม่ๆ เช่นเดียวกัน และในแต่ละกล่องภารกิจการทำงานต้องทำงานเชื่อมโยงกัน จึงต้องนำงานที่ปฎิบัติมาแลกเปลี่ยนถอดเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาต่อยอดต่อไป และการจัดประชุมในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเสริมกำลังใจให้กับสถานประกอบการ และพี่น้องชาวระยองด้วย

          แพทย์หญิงเสาวนีย์ วิบุลสันติ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า การจัดการสถานที่กักกันโรคแห่งรัฐ ฉบับวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 (ฉบับที่ 2) ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ จึงต้องมีการเสริมสร้างความเข้าใจและสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน  ทั้งในระดับเขตสุขภาพ และระดับจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมระบบบัญชาการเหตุการณ์และศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (Emergency Operating Center; EOC) รองรับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ระยะที่ 3 และเกิดความร่วมมือในเรื่องการเตรียมพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน อย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ ประชาชนควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากผ้า หมั่นล้างมือ เพื่อเป็นการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคโควิด-19 และโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ อย่างยั่งยืน  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422   

     *******************************************************************************************


ข่าวสารอื่นๆ