สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี
Responsive image

รอบรู้เรื่องโรคและภัยสุขภาพฯ : สคร.6 ชลบุรี แนะอิ่มบุญ อิ่มใจ กินเจปลอดภัย ยึกหลัก 4 ล.

 สคร.6 ชลบุรี แนะอิ่มบุญ  อิ่มใจ กินเจปลอดภัย ยึกหลัก 4 ล.

         วันที่ 17 – 25 ตุลาคม 2563 เป็นช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ ประชาชนจะรักษาศีล ปฏิบัติธรรม งดเว้นกินเนื้อสัตว์    เน้นผักผลไม้ โดยเชื่อว่า การกินเจเป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ได้กุศล การละเว้นเนื้อสัตว์เป็นการให้ชีวิตแก่สัตว์ ถือเป็นการเสริมบุญบารมีและยังเป็นโอกาสดีในการสร้างสุขภาพที่ดี ช่วยลดความเสี่ยงป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแต่จะต้องกิน ให้ถูกหลักโภชนาการ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เนื่องจากอาหารเจที่จำหน่ายส่วนใหญ่ มักทำจากแป้ง เป็นอาหารทอด ไขมันสูง และเค็ม จึงทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

        กระทรวงสาธารณสุข จึงได้แนะนำการกินเจให้อิ่มบุญ อิ่มใจ ปลอดภัย และมีสุขภาพดี โดยแนะนำให้ยึดหลัก 4 ล. ได้แก่ 1. ละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ และอาหารที่มีส่วนผสมเป็นเนื้อสัตว์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และละเว้นการกินอาหารรสจัด และผักที่มีกลิ่นฉุน 5 ชนิด (หัวหอม หลักเกียวหรือกระเทียมโทนจีน กระเทียม กุยช่าย และใบยาสูบ)  2. เลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่  ข้าวกล้อง ธัญพืช เห็ด ถั่วต่าง ๆ เต้าหู้ เพื่อป้องกันการขาดโปรตีน เน้นเพิ่มผัก (ใบผัก) และผลไม้ (หวานน้อย) รวมทั้งเลือกร้านอาหารที่สะอาดได้มาตรฐาน 3. ล้างผักผลไม้ให้สะอาดตามขั้นตอน ก่อนปรุง ก่อนกิน  โดยล้างผ่านน้ำไหล 2 นาทีตามด้วยการแช่ในสารละลาย เช่น เกลือ น้ำส้มสายชู ผงฟู หรือน้ำยาล้างผักประมาณ 15 นาที    แล้วตามด้วยน้ำสะอาดเพื่อล้างสารละลายออกให้หมด ช่วยขจัดเชื้อโรค และลดการปนเปื้อนสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างลงได้ ถึงร้อยละ 60 - 92 และ4. ลดอาหารประเภทแป้ง ไขมัน ของทอด อาหารประเภทผัดน้ำมัน และลดหวาน มัน เค็ม  อาหารที่ปรุงรสจัด ควรเน้นอาหารที่ทำด้วยวิธีการนึ่ง ต้ม หรือตุ๋น

          นางสุภาพร พุทธรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี  กล่าวว่า ช่วงเทศกาลกินเจ นอกจากการงดกินเนื้อสัตว์แล้ว ทางด้านสุขภาพยังถือเป็นการพักระบบย่อยอาหาร เนื่องจากอาหารเจจะเน้นผัก ผลไม้ คาร์โบไฮเดรต หรือโปรตีนจากถั่วต่าง ๆ ซึ่งจัดว่าย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์มาก ระบบต่าง ๆ ในร่างกายจึงไม่ต้องทำงานหนัก แต่อาหารเจส่วนใหญ่มักทำจากแป้ง ใช้วิธีการทอด และมีไขมันสูง เพราะฉะนั้นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ต้องการกินอาหารเจ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน หรือโรคหัวใจ ควรต้องให้ความสำคัญกับการเลือกกินอาหารเจเป็นพิเศษ เพราะอาจส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลหรือคอเลสเตอรอลในเลือด และระดับความดันโลหิตไม่ได้ โดยต้องระวังอาหารประเภททอด หรือใช้น้ำมันหรือเกลือเป็นส่วนประกอบ ส่วนผลไม้ควรเลือกกินในปริมาณที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังต้อง เฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง โรคบิด จากการประกอบอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ หรือ ปรุงอาหารไว้นาน ไม่ได้แช่เย็น และไม่ได้อุ่นให้เดือดก่อน เมื่อมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน อาจมีไข้ร่วมด้วย ให้จิบน้ำ    ผสมสารละลายเกลือแร่ ป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้นขอให้ไปพบแพทย์ หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่   สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

                                                                                                            

อ้างอิงข้อมูล : กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค

 


ข่าวสารอื่นๆ