สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

หมอ เตือนเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ป่วยไข้สุกใสได้

 

หมอ เตือนเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ป่วยไข้สุกใสได้

 

จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ พบการระบาดของโรคไข้สุกใสในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ประกอบกับโรคนี้มักเกิดการระบาดในช่วงฤดูหนาว ซึ่งโรคนี้สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย และสามารถติดต่อกันได้ง่ายเหมือนไข้หวัด ที่สำคัญคือกลุ่มเสี่ยงควรต้องหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการ เพราะอาจทำให้มีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร  ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จังหวัดขอนแก่น เผยแพร่ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม ตั้งแต่วันที่  ๑ มกราคม  ถึงวันที่  ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒    มีรายงานผู้ป่วยโรค ไข้สุกใส ในพื้นที่จำนวนทั้งสิ้น ๒๗๖ ราย  กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ ๕ - ๙  ปี  รองลงมาคือ แรกเกิด - ๔  ปี และ ๑๐ - ๑๔ ปี ตามลำดับ ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต พบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง  สำหรับโรคไข้สุกใสเกิดจากเชื้อไวรัส สามารถติดต่อผ่านการหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำลาย น้ำมูก ของผู้ป่วยเข้าไป หรือการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย หรือโดยการสัมผัสตุ่มน้ำพองใสที่ผิวหนังผู้ป่วย จะเริ่มปรากฏอาการหลังได้รับเชื้อเข้าไป ๒-๓ วัน โดยเด็กจะมีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ผู้ใหญ่จะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว จากนั้นจะมีผื่นขึ้นที่ศีรษะ ใบหน้า แขน ขา หน้าอก แล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำพองใสในวันที่ ๒-๓ นับแต่วันเริ่มมีไข้  หลังจากนั้นตุ่มใสจะเป็นหนอง แห้งและตกสะเก็ด และจะหลุดเองภายใน ๕-๒๐ วัน อาจมีผื่นขึ้นในคอ ปาก โดยทั่วไปโรคนี้มักไม่มีอาการที่รุนแรง ยกเว้นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ คือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด ผู้ที่กินยากดภูมิต้านทาน ทารกแรกเกิด สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่กำลังรักษาด้วยเคมีบำบัด

โรคไข้สุกใสส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายได้เอง สำหรับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการควรแยกตัวออกจากผู้อื่นโดยเร็ว เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมากๆ ถ้ามีไข้สูงควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ ถ้ามีอาการคัน ให้รับประทานยาแก้แพ้และทายาคารามายด์ ดูแลรักษาผิวหนังให้สะอาด ตัดเล็บให้สั้น ไม่ควรแกะตุ่มหนองเพราะจะทำให้อักเสบ ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อจำเป็นต้องคลุกคลีกับผู้อื่น เด็กหรือผู้ใหญ่ควรให้หยุดเรียน หรือหยุดงานเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ จนกว่าแผลจะตกสะเก็ดและหลุดไป หากมีอาการผิดปกติ ได้แก่ ซึมลง มีไข้สูงเกินกว่า ๓ วัน รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ ควรรีบพบแพทย์

สำหรับการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การแยกตัวจากผู้อื่นตั้งแต่เริ่มมีอาการ พร้อมกับดูแลอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงคลุกคลีกับผู้ป่วย รับประทานอาหารให้ครบหมู่เพิ่มผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวอาทิ ส้ม สับปะรด  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์สายด่วนกรมควบคุมโรค ๑๔๒๒

................................................................................

ข้อมูลจาก : สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค
เผยแพร่ :  กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ ขอนแก่น

ศูนย์รับข้อร้องเรียนหมายเลข ๐๔๓-๒๒๒๘๑๘-๙

ต่อ ๖๑๑ งานกฎหมาย 

http://odpc7.ddc.moph.go.th/

 

 


ข่าวสารอื่นๆ