สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

สคร.7 ขอนแก่น  แนะประชาชน กินกลอยอย่างไรให้ปลอดภัย

สคร.7 ขอนแก่น  แนะประชาชน กินกลอยอย่างไรให้ปลอดภัย

จากกรณีที่มีรายงาน พบผู้ป่วยในพื้นที่เขตรับผิดชอบ สคร.7 ขอนแก่น จากโรคอาหารเป็นพิษสาเหตุจากการรับประทานกลอยนึ่ง จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวนกว่า 36 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ตาลายคอแห้ง จากการสอบสวนโรคพบว่ากลอยเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเจ็บป่วยในครั้งนี้  ซึ่งสารพิษที่อยู่ในกลอยมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ดังนั้นคนที่รับประทานกลอยเข้าไปจึงมีอาการ คันที่ปาก ลิ้น คอ คลื่นไส้ อาเจียน และทำให้เกิดอาการ มึนเมา วิงเวียน ใจสั่น ตาพร่า อึดอัด ซึ่งกลอยเป็นพืชที่มีสารพิษ โดยเฉพาะ ในช่วงฤดูฝนกลอยจะมีความเป็นพิษสูงกว่าฤดูอื่น จึงแนะนำว่าหากจะนำมารับประทานควรมั่นใจว่าผ่านกรรมวิธีขจัดพิษอย่างถูกวิธี

นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น มีความห่วงใยประชาชนจากการเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ ที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมากๆในคราวเดียวกัน จากกรณีรับประทานอาหารประเภทกลอยที่ซื้อจากตลาด จึงได้เปิดเผยข้อมูลจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (สวทช.) ว่า “กลอย” มีลักษณะทั่วไปเป็นไม้เถา มีหัวใหม่เกิดขึ้นทุกปีจากส่วนลำต้นใต้ดิน หัวมีขนาดต่างๆกันผิวสีฟางหรือเทา เนื้อในสีขาวถึงขาวนวล ในหัวกลอยมีแป้งและมีสารพิษที่ชื่อว่าไดออสคอรีน (dioscorine) พิษชนิดนี้จะมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เนื่องด้วยสารไดออสคอรีนเป็นสารพิษที่สามารถละลายน้ำได้ดี ดังนั้นกรรมวิธีการขจัดพิษจากหัวกลอย โดยใช้น้ำละลายสารพิษออกมาได้หมดก็สามารถนำมารับประทานได้  ซึ่งในสมัยก่อนมีวิธีการล้างพิษกลอยด้วยการฝานหัวกลอยเป็นชิ้นบางๆแล้วนำมาแช่น้ำไหล เช่น ในลำธาร ซึ่งต้องใช้เวลาชะล้างสารพิษไม่ต่ำกว่า 7 วัน หรืออีกวิธีหนึ่งคือนำไปแช่ในน้ำเกลือเข้มข้น โดยเกลือจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสารไดออสคอรีนในแผ่นกลอยได้เร็วขึ้น แต่ต้องถ่ายน้ำทิ้งหลายๆ ครั้ง และใช้เวลาแช่ไม่ต่ำกว่า 3 วัน ซึ่งการรับประทานกลอยให้ปลอดภัยต้องผ่านกรรมวิธีหลายๆ ขั้นตอน และต้องมีความชำนาญในการล้างพิษกลอยเป็นพิเศษ สำหรับสารพิษไดออสคอรีนในกลอย จะมีผลต่อผู้ระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5  แสดงอาการ คันที่ปาก ลิ้น คอ คลื่นไส้ อาเจียน และทำให้เกิดอาการ มึนเมา วิงเวียน ใจสั่น ตาพร่ามัว อึดอัด และอาจเป็นลมหมดสติได้  ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับพิษจะมีระดับความรุนแรงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษ ความต้านทานของแต่ละคน และมีการศึกษาพบว่าปริมาณสารพิษของหัวกลอยในแต่ละฤดูกาลจะแตกต่างกัน ซึ่งพบว่ากลอยจะมีพิษมากในช่วงที่กลอยออกดอกคือช่วงหน้าฝนประมาณเดือนสิงหาคม – ตุลาคม จึงทำให้ผู้ที่รับประทานกลอยในช่วงฤดูฝนจะมีความเสี่ยงอันตรายจากพิษในกลอยมากยิ่งขึ้น  

           นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ยังกล่าวอีกว่า แม้จะมีวิธีกำจัดพิษกลอยที่มีมาแต่โบราณ แต่ก็ยังไม่มีวิธีการใดที่บอกได้แน่ชัดว่ากลอยจะหมดพิษหรือไม่ด้วยการสังเกตจากลักษณะภายนอก ดังนั้นการแช่น้ำไว้หลายวัน หรือการตั้งข้อสังเกตตามคนส่วนใหญ่ที่เชื่อว่าการล้างกลอยไปเรื่อยๆจนกว่าเมือกที่ผิวกลอยจะหมดนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยืนยันได้ 100% ว่าจะไม่มีพิษหลงเหลืออยู่ เพราะสารพิษที่ยังอยู่ภายในเนื้อกลอยอาจยังไม่ซึมออกมาข้างนอก

ดังนั้นจึงขอแนะนำย้ำเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการรับประทานกลอยเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน และควรหลีกเลี่ยงมิให้เด็กรับประทานกลอยจะดีที่สุด เนื่องจากเด็กมีน้ำหนักตัวน้อย สารพิษกระจายตัวในร่างกายเร็วกว่าผู้ใหญ่ และเมื่อเกิดอาการจากพิษขึ้น เด็กไม่สามารถบอกกล่าวได้ อาจแสดงอาการรุนแรงและเป็นอันตราย และหากประชาชนที่รับประทานกลอยที่ผ่านกรรมวิธีล้างสารพิษมาเป็นอย่างดีแล้วหากเกิดอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ในทันที และสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์สายด่วนกรมควบคุมโรค ๑๔๒๒

 

………………………………………………………………..

ข้อมูลที่มา : ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (สวทช.) 

เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ

ศูนย์รับข้อร้องเรียนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จ.ขอนแก่น

หมายเลข ๐๔๓-๒๒๒๘๑๘-๙ ต่อ ๒๒๔

http://odpc7.ddc.moph.go.th

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ [email protected]


ข่าวสารอื่นๆ