สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ
Responsive image

OIC ร่วมรับฟังผลวิจัยของ IOM เเละเครือข่าย เพื่อนำเสนอผู้บริหารต่อยอด

OIC เข้าร่วมรับฟังผลวิจัยในกลุ่มแรงงานข้ามชาติด้านวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 พบระดับการเข้าถึงเเละความเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนมีผลต่อการตัดสินใจเข้ารับวัคซีน ส่วนหนึ่งมาจากอุปสรรคด้านภาษา เเละกลัวการถูกจับกุมขณะเดินทางไปหน่วยบริการวัคซีนเนื่องจากการเข้าเมืองเเบบไม่กฎหมาย เสนอให้ใช้ภาษาของแรงงานในการสื่อสารในหน่วยบริการวัคซีน ให้ข้อมูลวัคซีนที่ครบถ้วน พัฒนาระบบหมอพร้อมเเละบริการให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรข้ามชาติ

วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 สัตวเเพทย์หญิง ดร. เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค ร่วมงานนำเสนอผลการศึกษาวัคซีนในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่จัดโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration : IOM) เเละเครือข่าย อาทิ มูลนิธิศุภนิมิตรเเห่งประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย สถาบันป้องควบคุมโรคเขตเมือง รวมกว่า 30 คน

สพ.ญ. ดร. เสาวพักตร์ กล่าวว่า ช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันความรุนแรงของโรคหากพบการติดเชื้อ ตั้งเเต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2565 สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ รายงานว่า ต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยได้รับวัคซีนไปเเล้ว 5,254,451 โดส คิดเป็นร้อยละ 52.12 ของชาวต่างชาติทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ในจำนวนนี้สัญชาติเมียนมา กัมพูชาเเละลาวเป็นสามสัญชาติที่ได้รับวัคซีนมากเป็นสามอันดับของของประเทศไทยในกลุ่มดังกล่าว เเต่ยังต้องเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนโดยเฉพาะเข็มที่สองเเละเข็มกระตุ้นในทุกสัญชาติ

IOM เเละเครือข่ายได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการรับรู้เรื่องวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในแรงงานสัญชาติเมียนมาเเละกัมพูชาใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพเเละปริมณฑล ระนอง ระยอง ตาก ชลบุรี จันทบุรี เเละตราดรวมกว่า 4,000 คน พบว่าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 57 ต้องการรับวัคซีนเพื่อป้องกันตนเองจากโรคโควิด 19 รองลงมาคือ เจ้าของธุรกิจ/เจ้านายต้องการให้ฉีด ทั้งนี้ แรงงานทั้งสองสัญชาติยังคงมีความลังเลในการรับวัคซีน ซึ่งส่วนหนึ่ง (ร้อยละ 18) ยังไม่ได้รับวัคซีน ด้วยเหตุผลตอนนี้สุขภาพร่างกายยังคงเเข็งเเรงอยู่ หรือตนเองมีโรคประจำตัวหรือยังมีความกังวลเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน เป็นสามเหตุผลหลักที่ส่งผลให้ไม่รับวัคซีน ซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับข้อมูลเรื่องความปลอดภัยเเละผลข้างเคียงของวัคซีนที่ไม่เพียงพอ  ไม่สามารถเข้าถึงสื่อที่ไม่ใช่ภาษาของตนเอง (ภาษาพม่าเเละภาษากัมพูชา) หรือสื่อเข้าใจได้ยาก นอกจากนี้ ความกังวลเรื่องการถูกจับกุมขณะเดินทางไปรับบริการวัคซีน เนื่องจากไม่ได้เป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมาย ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้สื่อสารเรื่องข้อมูลของวัคซีน ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนเเละประโยชน์ต่อการลดการระบาดของโรค หรือสามารถฉีดวัคซีนได้โดยไม่ถูกจับกุม

สพ.ญ. ดร. เสาวพักตร์ กล่าวอีกว่า ผลการดำเนินการที่เสนอในที่ประชุมเกี่ยวกับการเข้าถึงกลุ่มแรงงานเพื่อเชิญชวนไปรับวัคซีน หรือการทำ Mobile Vaccination Unit เพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัคซีน ลดความเสี่ยงต่อความลังเลในประเด็นข้างต้น เเม้ว่าจะสามารถดำเนินการได้ดี เเต่ยังต้องพัฒนาต่อในหลายประเด็น ทั้งการพัฒนาแอพพลิเคชั่นหมอพร้อมภาษาเพื่อนบ้าน การเพิ่มขีดความสามารถสำหรับรายงานอาการข้างเคียงของวัคซีนในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ การพัฒนาบริการวัคซีน การออกเลขประจำตัว การออกใบรับรองการฉีดวัคซีน และการต่อยอดผลการศึกษา ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป

ข่าวโดย: กลุ่มพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ/โครงการงบประมาณระหว่างประเทศ

12 กรกฎาคม 2565


ข่าวสารอื่นๆ