กรมควบคุมโรค ร่วมผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก ประเทศไทย ทบทวน ถอดบทเรียนการดำเนินงานด้านสาธารณสุขในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 เผยเครือข่ายสำคัญ ส่งผลสำเร็จในโครงการต่างๆ พร้อมยืนยันจับมือทำงานใกล้ชิด
วันที่ 17 ตุลาคม 2565 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดร.นพ. อนุพงษ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค สพญ.ดร.เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ และผู้แทนสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค ร่วมนำเสนอการตอบสนองด้านสาธารณสุขสำหรับประชากรข้ามชาติในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ต่อทีมผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย ภายใต้การประชุม “Joint Mission to Review the Health System Capacity in addressing Migrant Health Needs (JMRH) in Thailand” ระหว่างวันที่ 17- 21 ตุลาคม 2565
สพ.ญ.ดร. เสาวพักตร์ กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 กรมควบคุมโรคเเละเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย มูลนิธิศุภนิมิตรเเห่งประเทศไทย มูลนิธิรักษ์ไทยร่วมดำเนินการ 5 กิจกรรมหลักกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ได้แก่ 1) การอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว เพื่อเป็นกำลังในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น 2) การค้นหาความลังเลในการรับวัคซีนในชุมชนนำร่อง 3) สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ภาษาเพื่อนบ้าน 4) การเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เเละ 5) การพัฒนาการประสานงานระหว่างประเทศให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สุขภาพของแรงงานข้ามชาติในสุขภาวะที่ดีขึ้น เข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มากขึ้น สะดวกเเละรวดเร็วขึ้น
การทำงานกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติเป็นความท้าทายมากสำหรับประเทศไทย ด้วยข้อจำกัดอย่างการสื่อสาร ภาษา กฎหมาย วิถีชีวิต เครือข่ายในชุมชนที่คลุกคลีเเละเข้าถึงกลุ่มดังกล่าวได้ จึงเป็นช่องทางที่สำคัญที่ทำให้ไทยสามารถผ่านพ้นอุปสรรคใหญ่ๆ ได้ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 อาทิ การสำรวจ ให้ความรู้ที่ถูกต้องเเละพาแรงงานข้ามชาติที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ทำให้ความครอบคลุมของวัคซีนมีมากขึ้น
“ในปี 2566 กรมควบคุมโรคยังคงมุ่งเน้นการจับมือเครือข่ายไม่เพียงเเต่ด้านสาธารณสุขเท่านั้น ยังขยายเครือข่ายไปยังภาคส่วนอื่นๆ ทั้งความมั่นคง ปกครองเเละชุมชนทำโครงการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างระบบการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคและตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” สัตวเเพทย์หญิงเสาวพักตร์ กล่าว
การประชุมในครั้งนี้ เพื่อทบทวน จุดแข็ง และโอกาสการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อจัดการความต้องการด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติทั้งถูกกฏหมายและไม่ถูกกฏหมาย และเป็นเวทีที่จะนำเสนอบทเรียนที่ดีสู่นานาประเทศ โดยทีมประเมินจากผู้เชี่ยวชาญจากองค์การนามัยโลก ประจำประเทศไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
“สำหรับการทบทวนครั้งนี้เป็นโอกาสอันดี ในการรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากองค์กรภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในทุกมิติโดยเฉพาะมิติด้านนโยบาย ของระบบบริการสาธารณสุขสำหรับคนแรงงานข้ามชาติ และพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” ดร. นพ.อนุพงค์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าว
สำหรับวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ทีมผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทยจะลงพื้นที่เข้าพบ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ดร. นพ. ปรีชา เปรมปรี พร้อมหน่วยงานในกรมควบคุมโรค ได้แก่ กองโรคติดต่อทั่วไป, กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค, สำนักงานสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ และสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบกลุ่ม เกี่ยวกับบทเรียนที่มาผ่าน และความท้าทายเกี่ยวกับการบริหารจัดการโรคโควิด 19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ