สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค (สรป.คร.) ร่วมเครือข่ายกว่า 30 หน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข หารือแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์ ACPHEED for Response and Risk Communication พร้อมเน้นย้ำความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการผลักดันให้ศูนย์ ACPHEED บรรลุเป้าหมายการดำเนินงาน
วันนี้ (26 สิงหาคม 2567) สพ.ญ. ดร.เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวถึงการประชุมหารือเพื่อเตรียมแผนการขับเคลื่อนทางการดำเนินงานศูนย์ ACPHEED for Response and Risk Communication ที่จัดเมื่อวันที่ 20 -21 สิงหาคม 2567 ซึ่ง สรป.คร. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก The International Association of National Public Health Institutes (IANPHI) เเละด้านวิชาการจากศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข เพื่อหารือกับภาคีเครือข่ายที่มีประสบการณ์จากการตอบโต้การระบาดของโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมา เกือบ 60 คนจาก 30 หน่วยงาน โดยมีวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ นายสรพงค์ ศรียานงค์ ที่ปรึกษาสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ดร. สุวิทย์ มังคละ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านต่างประเทศกรมควบคุมโรค และผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆทั้งจากภายในกระทรวงสาธารณสุขและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข ระดมความคิด แลกเปลี่ยนข้อมูล และให้ข้อเสนอแนะในประเด็นแนวทางการดำเนินงาน การพัฒนากลไกการประสานงาน และกิจกรรมเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการของศูนย์ ACPHEED for Response and Risk Communication ที่จะเกิดขึ้น
ปัจจุบันกรมควบคุมโรค มีการประสานความร่วมมือสนับสนุนระยะเตรียมการของการดำเนินงานของศูนย์ ACPHEED for Response and Risk Communication จากทั้งออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ผ่านการนำส่งข้อเสนอโครงการ (Proposal) ไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับกิจกรรมการดำเนินงานให้สอดคล้องกัน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีบทบาทนำในหลายกิจกรรมในวงสาธารณสุขอาเซียนซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานงานของศูนย์ ACPHEED for Response and Risk Communication ที่จะเกิดขึ้น อาทิ บทบาทนำด้านเครือข่าย ASEAN + 3 FETN ด้านการพัฒนาสมรรถนะห้องปฏิบัติการ ด้านการป้องกันเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ด้านการยุติปัญหา HIV / AIDS และด้านการจัดการทางด้านสาธารณสุขขณะเกิดภัยพิบัติ เป็นต้น ผลการหารือในที่ประชุมคาดหวัง 3 ประเด็นต่อศูนย์ ACPHEED for Response and Risk Communication ได้แก่ 1. มีแผนการตอบโต้เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน มีรูปแบบการสื่อสารเพื่อการตอบโต้ที่ชัดเจน 2. มีศูนย์ข้อมูล Single Data Centre มีระบบติดตามและประเมินผล และ3. มี R&D เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพด้านการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข
ดร. นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 ได้รับมอบจากรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการหารือบทสรุปของแนวทางการดำเนินงาน ที่ประชุมได้ข้อเสนอเชิงนโยบาย 6 ประเด็นหลัก คือ 1. การพัฒนาบริหารจัดการและจัดสรรอุปกรณ์ทางการแพทย์ วัคซีน และยา 2.การบูรณาการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยเพื่อผลักดันศูนย์ ACPHEED for Response and Risk Communication 3. การเชื่อมโยงการทำงานกับกลไกสาธารณสุขอาเซียนที่มีอยู่เดิม อาทิ AHA Center, ASEAN EOC Network, และ ASEAN + 3 FETN 4. การเชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์ ACPHEED อื่นๆ 5. การจัดทำ Desk Review ศูนย์ตอบโต้โรคในทวีปอื่นๆ อาทิ Africa Centres for Disease Control and Prevention และ European Centre for Disease Prevention and Control เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ และ 6.การจัดทำ SOP โดยแนวทางการประสานงานระหว่างประเทศ
ข่าวโดย กลุ่มวิเทศน์/กลุ่มนวัตกรรมฯ สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ