สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ
Responsive image

คณะอนุกรรมการ GHSA กำหนดทิศทางร่วมกันเพื่อยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพในระดับโลก      

 คณะอนุกรรมการ GHSA ของไทย ประชุมกำหนดทิศทางของการทำงานวาระความมั่นคงทางสุขภาพโลก เผย 5 มติ ตั้งเป้าผลการประเมินดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพโลกติดอันดับ 1 - 5 ของโลกจนถึงปี 80 

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่กำกับงานด้านต่างประเทศ มอบนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ที่ปรึกษาสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขด้านต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (Global Health Security Agenda: GHSA) ตามแนวทางกฎอนามัยระหว่างประเทศ ครั้งที่ 1/2567 องค์ประกอบในคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กระทรวงมหาดไทย และองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 42 คน โดยมีสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค (สรป.คร.) ในฐานะศูนย์ประสานงานวาระความมั่นคงทางสุขภาพโลก ประจำประเทศไทย จัดประชุมคณะอนุกรรมการฯ 

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ประธานการประชุม แจ้งว่า “คณะอนุกรรมการ GHSA นี้จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2564 มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนบทบาทการทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางถาวรของ GHSA ของประเทศไทย และส่งเสริม สนับสนุน กำกับติดตามการดำเนินงานวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกในระดับประเทศ การประชุมนี้เพื่อประชุมทบทวน และเตรียมความพร้อมในการประเมินดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพโลก (GHS Index: GHSI) ปี 2567 และพิจารณากรอบการดําเนินงานของประเทศไทยภายใต้ GHSA Framework 2028” โดยมอบหมายให้ สพญ.ดร.เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ และเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ รายงานกิจกรรมที่สำคัญและข้อเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ
ที่ประชุมเห็นชอบ 5 มติ เพื่อให้ไทยมีผลต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงาน GHSA ดังนี้ 1.จัดตั้งศูนย์ประสานงานวาระความมั่นคงทางสุขภาพโลก ประจำประเทศไทยอย่างเป็นทางการ 2.เร่งพัฒนาการดำเนินงานวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกในระดับจังหวัดให้ครอบคลุมทั้ง 24 จังหวัดชายแดนและจังหวัดที่เป็นศูนย์การเดินทาง (Transportation Hub) 3.รวบรวมผลงานและเผยแพร่ผลงานด้านความมั่นคงทางสุขภาพโลกของทุกภาคส่วนสู่สาธารณะ ซึ่งส่งผลต่อการรักษาระดับผลการประเมินดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพโลก ไม่เกินลำดับที่ 5 ให้เป็นไปตามเป้าของแผนยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2566-2580  4.พิจารณากรอบการดำเนินงาน GHSA Frame work 2028 ร่วมกันและมอบหมายเลขานุการแจ้งต่อผลการพิจารณาต่อประธาน GHSA (ประเทศปากีสถาน) และ 5. ประธานการประชุม ได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญในการเพิ่มโอกาสการพัฒนาของประเทศไทยและภูมิภาค ที่เป็นการแสดงศักยภาพบทบาทนำด้านการพัฒนากำลังคนหลายภาคส่วน และระบบห้องตรวจทางปฏิบัติการ ผ่านการของบประมาณสนับสนุนจากกองทุนโรคระบาด หรือ Pandemic Fund โดยที่ประชุมมีมติร่วมกันให้จัดตั้งคณะทำงานจัดทำโครงร่างขอรับทุนสนับสนุนในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค เพื่อเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพโลกให้อยู่ระดับแนวหน้า
แม้ว่าไทยสิ้นสุดการเป็นประธาน GHSA เมื่อปี 2564 แล้ว แต่ยังคงต้องผลักดันการดำเนินงานที่ไทยเป็นประเทศนำของชุดกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงาน (Workforce Development) ระบบห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (Laboratory System) และมีส่วนร่วมการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา (Antimicrobial Resistance: AMR) ในระดับโลก และยังถ่ายทอดการดำเนินงานขับเคลื่อนความมั่นคงด้านสุขภาพโลกไปยังระดับจังหวัด (GHSA Subnational Level) เพื่อให้เกิดความพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านความมั่นคงทางสุขภาพ

ข่าวโดย กลุ่มพัฒนาภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ/กลุ่มนวัตกรรมและวิจัย สรป.คร.

 

 

 

 

 


ข่าวสารอื่นๆ