เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ณ งานประชุมวิชาการกรมควบคุมโรค อิมเเพค ฟอรั่ม ดร.สพ.ญ.เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ เสวนาเตรียมความพร้อมประเทศไทยในอนาคตก่อนการเจรจาในระดับโลกด้านข้อตกลงว่าด้วยโรคระบาด หรือ Pandemic Agreement จะแล้วเสร็จ โดยมีวิทยากร ได้แก่ ดร.สุวิทย์ มังคละ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ นางสาวนันทมาศ ฉัตราภรณ์ ผู้จัดการการค้า ด้านการศึกษาและสุขภาพ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ดร. กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และคุณอังคณา บริสุทธิ์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมควบคุมโรค
ดร.สพ.ญ. เสาวพักตร์ กล่าวว่า ข้อตกลงว่าด้วยโรคระบาด (Pandemic Agreement) เป็นข้อตกลงที่จัดทำขึ้นภายหลังการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งได้มีการจัดตั้งกลไกการเจรจาระหว่างรัฐ หรือ Intergovernmental Negotiating Body ( INB) ขึ้นมาเพื่อหารือและเจรจาข้อตกลงดังกล่าวอันจะมีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศหากประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกให้การรับรอง โดยข้อตกลงดังกล่าวนี้ อาจมีเนื้อความหรือ ข้อสารัตถะที่กระทบทางด้านกฎหมายในหลายมิติ และหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย
ดร.สุวิทย์ และคุณอังคณา ให้ข้อมูลว่า ในการหารือล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ที่การประชุมสมัชชาอนามัยโลกมีหลายประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ขณะที่ไทยนั้น มีการนำข้อเรียนรู้จากการระบาดใหญ่มาเตรียมความพร้อมรับการระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ การปรับปรุงกฎหมาย ระบบการเฝ้าระวัง การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมีความสอดคล้องกับการเจรจาข้อตกลงว่าด้วยโรคระบาดนี้ด้วยเช่นกัน คาดว่า เมื่อผลการเจรจาใกล้เสร็จสิ้นและเล็งเห็นว่าจะมีการบรรลุข้อตกลงระหว่างประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ต้องจัดทำขั้นตอนการรับฟังความเห็นของประชาชนที่มีข้อตกลงว่าด้วยโรคระบาดดังกล่าว จึงจำเป็นที่ต้องติดตามการหารือนี้อย่างใกล้ชิดและทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเข้มแข็งต่อไป
ประเด็นสำคัญ 2 ประการที่ถูกหยิบยกหารือในการเจรจา Pandemic Agreement นั้น คือ การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐเเละเอกชน และความเท่าเทียมกัน (equity) ได้ถูกนำเป็นหัวข้อในการเสวนาด้วย โดยวิทยากรเห็นพ้องต้องกันว่า การสร้างเสริมการทำงานของรัฐให้ดียิ่งขึ้นนั้น ต้องมีการถ่ายทอดองค์ความรู้รวมทั้งการเเลกเปลี่ยนนวัตกรรมระหว่างภาคส่วน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย มีการส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือ รวมทั้งเชื่อมต่อภาครัฐและเอกชนได้เป็นอย่างดี เช่น การเเลกเปลี่ยนนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างไทยและอังกฤษ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนานวัตกรรมโดยทางเนคเทคได้พัฒนาและเชื่อมต่อนวัตกรรมสู่การปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึง นวัตกรรมสุขภาพ เช่น การระบุตัวตนด้วยการจดจำลายม่านตา (Iris Recognition) และการจดจำใบหน้า (Face Recognition) ในกลุ่มบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัวภายใต้หลักมนุษยธรรม เพื่อเพิ่มความเข้าถึงการได้รับบริการสุขภาพและสาธารณสุขซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
การเสวนาในครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญจากการทำงานระหว่างประเทศ กฎหมาย และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เข้าร่วมอภิปราย จึงถือเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนวทางการดำเนินงานและถ่ายทอดนวัตกรรมระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมโดยใช้เทคโนโลยี ซึ่งล้วนเป็นประเด็นสำคัญในการเจรจา Pandemic Agreement อีกทั้ง ยังเป็นการอัพเดตสถานการณ์และเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย หากข้อตกลงดังกล่าวได้รับการรับรองในอนาคต