สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ
Responsive image

OICDDC และภาคีแม่ฮ่องสอน เผยใช้ไบโอเมทริกซ์ในกลุ่มชาติพันธุ์ “ดี” ขอให้พัฒนาต่อเเบบไร้รอยต่อทั้งระบบ

OICDDC ร่วมภาคีแม่ฮ่องสอน เปิดเวทีถอดบทเรียนการใช้ไบโอเมทริกซ์ในกลุ่มชาติพันธุ์ ชูประโยชน์เด่น ลดการสวมสิทธิ์ แต่ยังต้องปรับเพื่อทำงานไร้รอยต่อ

แม่ฮ่องสอน, 12 มิถุนายน 2568 – สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค (OICDDC) ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดเวทีถอดบทเรียนการใช้ระบบพิสูจน์อัตลักษณ์ด้วยเทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์ (TRCBAS) ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและชาติพันธุ์ ณ โรงแรมดิ อิมพีเรียล แม่ฮ่องสอน รีสอร์ท จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีผู้แทนจาก 7 โรงพยาบาล หน่วยงานสุขภาพ และชุมชนชาติพันธุ์ร่วมแลกเปลี่ยนรวม 45 คน

นายแพทย์ทศพล ดิษฐ์ศิริ สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า การใช้เทคโนโลยีเก็บอัตลักษณ์บุคคล เป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อระบบบริการสุขภาพ จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์พบว่า ระบบนี้ช่วยให้กลุ่มชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ไม่มีเอกสารสำคัญประจำตัว ซึ่งในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. - มิ.ย. 68) มีการพิสูจน์อัตลักษณ์ไปแล้ว 1,651 ราย โดย 94.67% เป็นแรงงานสัญชาติพม่า

แพทย์หญิงสุชาดา เจียมศิริ ผู้อำนวยการ OICDDC กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมควบคุมโรค สภากาชาดไทย เเละ NECTEC โดยนำเทคโนโลยี Iris Scan และ Facial Recognition มาประยุกต์ใช้ตั้งแต่ปี 2565 เพื่อเสริมการดูแลสุขภาพในกลุ่มเปราะบาง

“แม้ผลการใช้งานจะเป็นที่น่าพอใจในระดับพื้นที่ แต่ผู้ปฏิบัติงานเสนอให้มีการพัฒนาเพิ่มเติม เช่น การเชื่อมโยงระบบ TRCBAS เข้ากับระบบโรงพยาบาลอย่างไร้รอยต่อ ลดงานซ้ำซ้อน รวมถึงการผลักดันการใช้เลขประจำตัวที่ครอบคลุมหลายระบบ/หน่วยงานเพื่อการตรวจสอบสิทธิเเละเบิกจ่ายได้ และสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายให้เข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น” พญ. สุชาดา กล่าวถึงผลการถอดบทเรียน

เวทีครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายไบโอเมทริกซ์ในกลุ่มชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติ โดยเน้นการออกแบบร่วมจากพื้นที่ เพื่อให้เกิดระบบที่ใช้งานได้จริง ยั่งยืน และเป็นธรรม

\


ข่าวสารอื่นๆ