สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ
Responsive image

OIC DDC หารือ IOM ขับเคลื่อนระบบสุขภาพแรงงานข้ามชาติบนความท้าท้ายนโยบายระหว่างประเทศ

วันที่ 19 มิถุนายน 2568 สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค (OIC DDC) ต้อนรับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประจำประเทศไทย หารือแนวทางส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ด้วยวิธีการระบุอัตลักษณ์ (Biometric and face recognition) และการส่งเสริมกลไกความร่วมมือด้านสุขภาพข้ามพรมแดนอย่างยั่งยืน

แพทย์หญิงสุชาดา เจียมศิริ ผู้อำนวยการ OIC DDC กล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้นำด้านสุขภาพแรงงานต่างด้าวในภูมิภาคอาเซียน ได้ดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประชาชนตั้งแต่ปี 2547 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีแรงงานต่างด้าวหลายกลุ่มที่ประสบอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ด้วยข้อจำกัดด้านภาษา วัฒนธรรม สถานะทางกฎหมาย และการเลือกปฏิบัติ ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันความไม่แน่นอนทางด้านนโยบายระหว่างประเทศของประเทศมหาอำนาจ ส่งผลให้โครงการเพื่อสุขภาวะที่ดีของกลุ่มแรงงานข้ามชาติและกลุ่มผู้หนีภัยจากการสู้รบ ชะลอตัวและไม่แน่นอนในปีถัดไป อีกทั้งความเปราะบางด้านการเมืองและความมั่นคงกับประเทศเพื่อนยังในปัจจุบันถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อโครงการความร่วมมือระหวางประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพื่อยกระดับคุณภาพการดูแลสุขภาพ เมื่อเร็วนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เห็นชอบบังคับใช้ระบบพิสูจน์อัตลักษณ์สำหรับแรงงานข้ามชาติที่จำเป็นต้องรับบริการสุขภาพ และต่ออายุการทำงานในประเทศไทย ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติกว่า 200,000 รายลงทะเบียนแล้วใน 25 จังหวัด โดยมีทั้งโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนกว่า 100 แห่งเข้าร่วม

นายจิตรภาณุ ศรีเดช หัวหน้ากลุ่มงานนวัตกรรมและวิจัย OIC DDC กล่าวเสริม ตอนนี้คณะทำงานให้ความสำคัญใน 2 ประเด็น คือ การเชื่อมโยงกับระบบไบโอเมทริกซ์ TRCBAS กับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล และการพัฒนาหมายเลขประจำตัวสุขภาพเฉพาะบุคคลที่เชื่อมโยงกับสิทธิ์ประกันต่างๆ ของแรงงานข้ามชาติให้ครอบคลุม

ด้าน คุณ Leena Bhandari Chief Migration Health Officer, IOM กล่าวถึงความสนใจ และค้นหาโอกาสในการสนับสนุนงบประมาณ ทรัพยากร เพื่อจัดหาอุปกรณ์ไบโอเมทริกซ์ และทางด้านวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านวัณโรคและเอชไอวีในกลุ่มแรงงานที่ไม่มีเอกสารสำคัญประจำตัว ส่งเสริมการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ชุมชน และดำเนินกิจกรรมการสื่อสารความเสี่ยงในพื้นที่ชายแดน

อีกทั้ง ที่ประชุมยังได้หารือการปรับปรุงโครงสร้างคณะทำงานความร่วมมือ DDC–IOM เสนอขยายหน่วยงานอื่นภายในกรมควบคุมโรคที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะทำงานเพิ่มเติม โดยกำหนดจัดการประชุมคณะทำงานครั้งถัดไปในช่วงเดือนกันยายน 2568

การหารือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและพันธมิตรระหว่างประเทศในการพัฒนาระบบสุขภาพสำหรับประชากรทุกกลุ่มบนหลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (Leaving No One Behind)


ข่าวสารอื่นๆ