กองโรคติดต่อทั่วไป
Responsive image

Q&A โรคไข้หวัดใหญ่

ข้อคำถามในการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

Q: เป้าหมายกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

A: กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ที่กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด
และเบาหวาน บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้พิการ ทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) และโรคอ้วน (น้ำหนัก>100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และในปี 2566 มีการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเพิ่มเติม โดยสำนักงานประกันสังคมได้จัดให้มีการ บริการในกลุ่มผู้ประกันตนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป (ทั้งที่มีโรคประจำตัวและไม่มีโรคประจำตัว) โดยสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้รับผิดชอบ จะจ่ายค่าบริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้แก่สถานพยาบาล/ หน่วยบริการ เป็นผู้จัดซื้อวัคซีนเพื่อให้บริการกลุ่มเป้าหมาย

Q: สายพันธุ์วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

A: เชื้อสายพันธุ์วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จะมีความแตกต่างกันในแต่ละปี โดยองค์การอนามัยโลก (World

Health Organization: WHO) จะเป็นผู้กำหนดสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่จะนำมาผลิตวัคซีน โดยวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ในช่วงรณรงค์สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงปี 2566 ใช้วัคซีนซีกโลกใต้ ประกอบด้วยไวรัส 3 สายพันธุ์ ดังนี้

Egg-based Vaccines

  • an A/Sydney/5/2021 (H1N1)pdm09-like virus;
  • an A/Darwin/9/2021 (H3N2)-like virus; and
  • a B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)-like virus
  • หรือ Cell- or recombinant-based Vaccines
  • • an A/Sydney/5/2021 (H1N1)pdm09-like virus;
  • • an A/Darwin/6/2021 (H3N2)-like virus; and
  • • a B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)-like virus

และสำหรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขแบบ 4 สายพันธุ์จะมีสายพันธุ์เพิ่มเติม 1 สายพันธุ์ ได้แก่ a B/Phuket/3073/2013 (B/Yamagata lineage)-like virus.โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก https://www.who.int/

Q: วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มีความปลอดภัยเพียงใด โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์

A: มีการใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มานานหลายทศวรรษ และมีการศึกษาหลายการศึกษาที่แสดงว่าวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มีความปลอดภัยสูง เช่น ข้อมูลในสหรัฐอเมริกา ภายหลังจากการติดตามผู้ที่ได้รับวัคซีนภายหลังวัคซีนขึ้นทะเบียนเป็นเวลา 15 ปี พบว่ามีการใช้วัคซีนในประชาชนมากกว่า 750 ล้านโดส และผลการติดตามด้านความปลอดภัยยังคงยืนยันความปลอดภัยของวัคซีนได้อย่างดี และในหลายประเทศมีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายตามห้างสรรพสินค้าทั่วไปสำหรับข้อมูลความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์เช่นเดียวกัน ถือว่ามีความปลอดภัยสูง จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกา บังคลาเทศ และอีกหลายประเทศ ให้ผลการศึกษาสอดคล้องกันว่าสามารถให้วัคซีนชนิดนี้แก่หญิงตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยและไม่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ (วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่มีความปลอดภัยสูงใกล้เคียงกับวัคซีน dT หรือ TT ที่ให้บริการปกติในหญิงตั้งครรภ์) และข้อมูล
ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานอาการข้างเคียงภายหลังได้รับวัคซีนที่รุนแรง ทั้งนี้ สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มที่อยู่ในลำดับความสำคัญสูงสุดที่ควรได้รับวัคซีนและรับรองว่าวัคซีนชนิดนี้มีความปลอดภัยสูง โดยองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้บริการแก่หญิงตั้งครรภ์ได้ทุกอายุครรภ์รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูง หรือเคยมีภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์

Q: การให้วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์จะได้รับประโยชน์ในด้านใดบ้าง

A: หญิงตั้งครรภ์ช่วยป้องกันโรคในหญิงตั้งครรภ์ (ประสิทธิภาพร้อยละ 70 ถึง 90) และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการติดเชื้อและเสียชีวิตซึ่งสูงกว่าคนปกติถึง 4 - 16 เท่า ภูมิคุ้มกันจากแม่สามารถถ่ายทอดไปยังทารก ทำให้ทารกหลังคลอดที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือนมีภูมิคุ้มกันและมีโอกาสป่วยน้อยลง

Q: หากฉีดวัคซีนไปแล้ว มารู้ภายหลังว่าตั้งครรภ์ จะเกิดผลเสียอย่างไร

A: การตั้งครรภ์ไม่เป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีนสามารถให้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ทุกอายุครรภ์ แต่ในประเทศไทยแนะนำให้วัคซีนแก่หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรครุนแรงหากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ช่วงครรภ์แก่ (ยกเว้นกรณีมีการระบาดสามารถฉีดได้ทุกอายุครรภ์)

Q: ฉีดวัคซีนไปแล้ว สามารถให้นมบุตรได้หรือไม่

A: สามารถให้นมบุตรได้

Q: เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ หากมีโรคประจำตัวที่ทำให้เสี่ยงต่อการป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่อย่างรุนแรง เช่น เป็นโรคปอด โรคหัวใจ จะทำอย่างไร

A: เด็กเล็กมีโอกาสเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรงมากได้ แต่วัคซีนยังไม่มีการรับรองให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ดังนั้นการป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่สำคัญในกลุ่มนี้ คือ การตัดโอกาสที่เด็กจะได้รับเชื้อ เช่น การแยกเลี้ยงเด็กไม่พาไปคลุกคลีกับคนหมู่มาก ระวังรักษาสุขอนามัยของผู้เลี้ยงดู การฉีดวัคซีนในผู้เลี้ยงดู และผู้ใหญ่ทุกคนในบ้าน นอกจากนี้พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับวัคซีน (ตั้งแต่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป) ภูมิคุ้มกันจากแม่สามารถถ่ายทอดสู่ทารกในครรภ์และปกป้องลูกหลังคลอดประมาณ 6 เดือน

Q: เด็กที่แข็งแรงดี และอายุมากกว่า 2 ปี ซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ สปสช. จัดหาวัคซีนให้ ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่หรือไม่

A: การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ที่ผ่านมา มักเริ่มมาจากการระบาดในโรงเรียน แล้วนำเชื้อไปแพร่ต่อในครอบครัวและชุมชน ดังนั้น การป้องกันเด็กวัยเรียนทุกคนจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ จะช่วยลดการระบาดในชุมชนได้ด้วย แต่เนื่องจาก สปสช. มีงบประมาณจำกัดเพื่อจัดหาวัคซีนนี้ให้กับประชาชนทุกกลุ่มอายุ จึงกำหนดให้กลุ่มที่มีโอกาสเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตหากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก สำหรับเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ สปสช. จัดหาวัคซีนให้หากผู้ปกครองสามารถซื้อวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลให้แก่บุตรหลานได้ก็จะเป็นผลดีทั้งกับตัวเด็กเองและบุคคลในครอบครัวตลอดจนชุมชนที่อยู่อาศัย วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพดี และมีความปลอดภัยในเด็กที่แข็งแรงดีสามารถฉีดวัคซีนได้ตลอดปี แต่ช่วงที่ได้ประโยชน์ดีที่สุดคือช่วงก่อนเข้าหน้าฝน หรือก่อนเข้าหน้าหนาว โดยควรฉีดก่อนที่จะเปิดภาคเรียน

Q: ถ้าเคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในปีที่ผ่านมาแล้ว จำเป็นต้องฉีดวัคซีนนี้ซ้ำในปีนี้อีกหรือไม่ เพราะอะไร

A: ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในปีที่ผ่านมาแล้ว ยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนนี้ซ้ำ เนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคจากการฉีดวัคซีน จะลดต่ำลงตามธรรมชาติหลังจาก 1 ปี ไปแล้ว ซึ่งอาจจะทำให้ ปกป้องร่างกายจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ กลุ่มเป้าหมายที่กำหนด เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ จึงควรได้รับการฉีดวัคซีนซ้ำจากผลการศึกษาเมื่อปี 2556 พบว่า กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ มี Seroconversion rate ต่อโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ชนิด A (H1N1) ประมาณร้อยละ 60 - 70
การให้วัคซีนซ้ำในกลุ่มเป้าหมายที่เคยได้รับวัคซีนจะช่วยกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น

Q: ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในปีที่ผ่านมา และเคยมีอาการไข้ ปวดบริเวณที่ฉีด หรือผื่นคันเป็นลมพิษหลังฉีด จะสามารถฉีดซ้ำในปีนี้ได้หรือไม่ ถ้าฉีดวัคซีนซ้ำจะมีอาการดังกล่าวรุนแรงมากขึ้นหรือไม่

A: สามารถฉีดซ้ำได้เพราะอาการไข้และปวดบวมบริเวณที่ฉีดเป็นอาการไม่รุนแรงที่พบได้ และไม่ได้เป็นข้อห้าม

ในการฉีดวัคซีนดังกล่าว นอกจากนี้ความรุนแรงของอาการที่พบไม่มีความสัมพันธ์กับจำนวนครั้งที่ฉีดการฉีดซ้ำในปีต่อมาไม่ได้ทำให้ผลข้างเคียงมีมากขึ้น อาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวสามารถป้องกันได้โดยการรับประทานยาพาราเซตามอลหลังได้รับวัคซีน ส่วนอาการลมพิษ หรืออาการรุนแรงหายใจไม่ออก ที่เกิดขึ้นรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมงหลังฉีดเข็มก่อน ถือเป็นอาการที่เข้าข่ายแพ้รุนแรง และไม่ควรฉีดวัคซีนซ้ำ แต่หากเป็นผื่นหรือลมพิษที่เกิดภายหลังฉีดเป็นเวลานานหลายชั่วโมงหรือเป็นวันมักไม่รุนแรง สามารถให้ฉีดวัคซีนซ้ำได้ อย่างไรก็ตามต้องเฝ้าสังเกตอาการข้างเคียงภายหลังได้รับวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที และเมื่อกลับบ้านจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 2 วัน

เจ้าหน้าที่ควรสอบถามอาการเหล่านี้ก่อนฉีดวัคซีน เพื่อจะได้เฝ้าสังเกตอาการใกล้ชิด