สคร. 1 เชียงใหม่ แนะให้ตระหนักถึงอันตรายของสารหนู หากร่างกายได้รับในปริมาณที่สูง
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ เน้นย้ำ ให้ตระหนักถึงอันตรายของสารหนู หากร่างกายได้รับสารหนูในปริมาณสูง อาจส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างการ การตรวจวินิจฉัยและดูแลอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถควบคุมและป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แพทย์หญิงเสาวนีย์ วิบุลสันติ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สารหนู (Arsenic) เป็นโลหะที่พบได้ในธรรมชาติ โดยเฉพาะในน้ำใต้ดิน หรือพื้นที่อุตสาหกรรม เช่น เหมืองแร่ หากร่างกายได้รับสารหนูในปริมาณสูง หรือสะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ และระบบผิวหนัง หากได้รับสารหนูในระยะเฉียบพลัน อาจส่งผลต่อผิวหนัง เช่น ผิวแดง คัน บวม หรือรู้สึกแสบร้อนบริเวณมือและเท้า บางรายอาจมีอาการลมพิษ รวมถึงมีแถบสีขาวบนเล็บ (Mee’s lines) ซึ่งมักปรากฏภายหลังการสัมผัสสารหนูประมาณ 8 สัปดาห์ ซึ่งการได้รับสารหนูในระยะยาว อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เช่น ผิวคล้ำหรือเข้มขึ้น โดยเฉพาะบริเวณรักแร้ ขาหนีบ ฝ่ามือ และฝ่าเท้า โดยอาจมีจุดสีซีดแทรกอยู่บนผิวคล้ำ เรียกว่า “Raindrop on a dusty road” และอาจพบอาการผมร่วงร่วมด้วย หรือตุ่มนูนแข็งสีเหลืองคล้ายเมล็ดข้าวโพด (Arsenical keratoses) บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ในบางรายอาจพบความผิดปกติที่ขา หรือโรคที่เรียกว่า “เท้าดำ” ซึ่งเกี่ยวข้องกับการไหลเวียนเลือด หากมีข้อสงสัยหรือพบอาการผิดปกติที่ผิวหนัง ประชาชนสามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยได้ โดยมีการตรวจระดับสารหนูในเลือด ปัสสาวะ เส้นผม หรือเล็บ โดยค่าปกติในเลือดอยู่ที่ 0–13 ไมโครกรัม/ลิตร และในปัสสาวะ 0–35 ไมโครกรัม/ลิตร หากตรวจพบเกินเกณฑ์ แพทย์อาจพิจารณาตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจชิ้นเนื้อผิวหนัง
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะสามารถป้องกันได้ด้วยการใช้แหล่งน้ำดื่มที่สะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีโดยตรง และหมั่นสังเกตสุขภาพของตนเอง หากมีอาการผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อรับการดูแลตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร