สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช
Responsive image

สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย จัดประชุมวิชาการประจำปี 2563 “แนวโน้มการพัฒนายา วัคซีน และเทคโนโลยีห้องปฏิบัติการ ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19”

          สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย จัดการประชุมวิชาการประจำปี 2563 ในหัวข้อ “แนวโน้มการพัฒนายา วัคซีน และเทคโนโลยีห้องปฏิบัติการในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19” เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลก  ในการดูแลรักษาและป้องกันโรคให้ประชาชนชาวไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น  พร้อมพิธีมอบรางวัลนักบริหารโรงพยาบาลดีเด่น ประจำปี 2563 จำนวน 10 ท่าน

          วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2563) ที่โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จ.นนทบุรี นายแพทย์อำนวย กาจีนะ นายกสมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย พร้อมนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมเปิดการประชุมวิชาการประจำปี 2563 ในหัวข้อ “แนวโน้มการพัฒนายา วัคซีน และเทคโนโลยีห้องปฏิบัติการ ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19”  พร้อมมอบรางวัลนักบริหารโรงพยาบาลดีเด่น ประจำปี 2563 จำนวน 10 ท่าน

          นายแพทย์อำนวย กล่าวว่า ในปี 2563 นี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีการระบาดก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนความรู้และรูปแบบการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีการพัฒนาและปรับระบบบริการทางการแพทย์ใหม่ ขณะเดียวกันในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการคิดค้น "นวัตกรรมการแพทย์" การพัฒนายา วัคซีน และเทคโนโลยีห้องปฏิบัติการในสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้เท่าทัน และมุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกสอง ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ต้องสนับสนุนให้เกิดกลไกรัฐร่วมเอกชนในการพัฒนาศักยภาพการบริการ การพัฒนายา วัคซีน และเทคโนโลยีห้องปฏิบัติการ รวมถึงการบริหารจัดการโรงพยาบาล

          สำหรับประเทศไทย ได้มีการเตรียมทรัพยากรต่างๆ ไว้รับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อมีการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 สำเร็จแล้ว ประเทศไทยจะมีวัคซีนใช้ในเวลาใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และได้มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนดังกล่าว ซึ่งได้ดำเนินการไปพร้อมกับการเจรจาแบบกลุ่ม เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนไทยให้มากยิ่งขึ้น 

          นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทยได้ก่อตั้งมาครบ 30 ปีแล้ว ซึ่งสมาคมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะด้านการบริหารจัดการโรงพยาบาลให้กับเครือข่ายนักบริหารโรงพยาบาลให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางด้านการบริหารวิชาการ รวมถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ในระดับโลก โดยการจัดประชุมในครั้งนี้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำความรู้ไปพัฒนาการบริหารจัดการโรงพยาบาล เพื่อดูแลรักษาและป้องกันโรคให้ประชาชนชาวไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิต รวมทั้งเตรียมการพัฒนารองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

          นอกจากนี้ ในวันนี้ได้มีการมอบรางวัลนักบริหารโรงพยาบาลดีเด่น ประจำปี 2563 จำนวน 8 สาขา รวม 10 ท่าน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงาน ที่สำคัญยังเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป ประกอบด้วย 1.นักบริหารโรงพยาบาลดีเด่นแห่งชาติ ได้แก่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล  2.นักบริหารโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ดีเด่น ได้แก่ นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 3.นักบริหารโรงพยาบาลชุมชนดีเด่น ได้แก่ นพ.วิชัย อัศวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น 4.นักบริหารโรงพยาบาลดีเด่นภาคเอกชน ได้แก่ รศ.นพ.ปิยะ เนตรวิเชียร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น  5.นักบริหารโรงพยาบาลดีเด่นเฉพาะด้าน กรมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค  6.นักบริหารโรงพยาบาลดีเด่น ภาครัฐ นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ พล.อ.ต.ทวีพงษ์ ปาจรีย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ  7.นักบริหารโรงพยาบาลดีเด่นสาขาการพยาบาล ภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย ได้แก่ น.ส.เอื้อมพร  กาญจนรังสิชัย หัวหน้าพยาบาล รพ.มหาราชนครราชสีมา, นางบุษบา การกล้า หัวหน้ากลุ่มงานบริการปฐมภูมิและองค์รวม รพ.ตระการพืชผล, นางดารณี พิพัฒนกุลชัย หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช  และ 8.นักบริหารโรงพยาบาลดีเด่น สาขาบริหารทั่วไป ได้แก่ นายสุชาติ อรรณพไกรสร รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์

          ด้านนายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย ต้องขอขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงความเสียสละของบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศ ที่ร่วมรับมือการระบาดของโควิด 19 จนทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดี เป็นตัวอย่างของการควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่พบผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีน แต่ก็สามารถจัดการและควบคุมโรคด้วยความรวดเร็ว และมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงสร้างการรับรู้และวิธีป้องกันโรคแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

 

*******************************

ข้อมูลจาก : สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563


ข่าวสารอื่นๆ