สคร.11 ห่วง ปชช.ป่วยไข้เลือดออก เน้นย้ำมาตรการป้องกันและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย แนะเป็นไข้สูงอย่าซื้อยากินเองอาจเสี่ยงเสียชีวิต
ด้วยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วงนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังในภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย หากมีอาการป่วยไข้สูงเกิน 2 วัน ให้สงสัยไข้เลือดออก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี คนอ้วน ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว แนะอย่าซื้อยากินเอง ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องและป้องกันอาการป่วยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
นายแพทย์ไกรสร โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เผยว่า ในช่วงนี้จะพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากขึ้น โดยในปีนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตสุขภาพที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 กันยายน 2566 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม จำนวน 6,046 ราย เพศชาย 2,958 ราย เพศหญิง 3,088 ราย เสียชีวิต 16 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 5 ราย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 4 ราย จังหวัดกระบี่ จำนวน3 ราย จังหวัดขุมพร จำนวน 2 ราย และจังหวัดภูเก็ต จำนวน 2 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงผู้ป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิต ได้แก่ น้ำหนักเกิน/โรคอ้วน ซื้อยามารับประทานเอง มีโรคประจำตัว และไปรักษาที่โรงพยาบาลล่าช้า
โรคไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัด ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนกางมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด ทายากันยุงหรือจุดยาไล่ยุง รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้ยุงลายมาวางไข่ การกำจัดไข่หรือลูกน้ำในภาชนะเพื่อตัดวงจรไม่ให้ลูกน้ำกลายเป็นยุงตัวเต็มวัย เป็นต้น แต่ถ้าหากถูกยุงกัดแล้วมีอาการป่วยไข้ ต้องสังเกตอาการตนเองให้ดี เพราะช่วงนี้นอกจากมีไข้เลือดออกระบาดแล้วก็ยังมีไข้หวัดใหญ่ระบาดอีกด้วย ซึ่งอาจป่วยร่วมกันได้ทั้งสองโรค อาการเด่นชัดของไข้เลือดออกที่แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ในระยะต้นๆ คือ ไข้เลือดออกจะมีไข้สูงอย่างรวดเร็วเฉียบพลัน ไข้ลดช้า ไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค ซึ่งปัจจุบันมีชุดตรวจไข้เลือดออกเด็งกี่ (NS1) ทำให้รู้ผลเร็วและรักษาได้ทันท่วงที
นายแพทย์ไกรสร กล่าวเพิ่มเติม ขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค จะป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ 3 โรค คือโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา หากมีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง กระหายน้ำ หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด มีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือรับประทานยาหรือเช็ดตัวแล้ว
ไข้ไม่ลด หรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ควรรีบไปพบแพทย์ หากสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่11 จังหวัดนครศรีธรรมราช
ผู้เขียนข่าว ธัญญธร เยาวยอด
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร