สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช
Responsive image

ห่วงเด็กป่วย “โรคไอกรน” แนะผู้ปกครองพาไปฉีดวัคซีน

 

ห่วงเด็กป่วย “โรคไอกรน” แนะผู้ปกครองพาไปฉีดวัคซีน

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เตือนเด็กเล็กเสี่ยงป่วยโรคไอกรน ย้ำผู้ปกครองพาบุตรหลาน ไปรับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด หากมีอาการไข้ต่ำ ๆ มีน้ำมูก ไอผิดปกติ ไอเป็นชุด ๆ ติดต่อกัน 5 - 10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น จนทำให้หายใจไม่ทัน หายใจมีเสียงดังวู๊ป ให้รีบไปพบแพทย์

แพทย์หญิงดารินดา รอซะ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคไอกรน ตั้งแต่ 1 มกราคม - 11 กันยายน 2567 ทั้งหมด 1,120 ราย เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 0 - 4 ปี รองลงมา 7 - 9 ปี และ 10 – 14 ปี ในเขตสุขภาพที่ 11 พบผู้ป่วยไอกรน จำนวน 5 ราย จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลตามเกณฑ์ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในเขตสุขภาพที่ 11 ประจำเดือนสิงหาคม ปี2567 พบว่า ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน DTP ครบ 3 ครั้ง อยู่ที่ร้อยละ 88.86 ซึ่งยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อาจส่งผลให้เกิดการระบาดของโรคไอกรนได้ เนื่องจากความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน DTP ต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 90

“โรคไอกรน” เป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ ติดต่อง่ายจากการไอ จาม สัมผัสกับสารคัดหลั่งและเครื่องใช้ของผู้ป่วย โรคนี้พบได้บ่อย ในเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือรับแล้วแต่ยังไม่ครบ ซึ่งอาการของโรคไอกรนในเด็กอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยหลังจากรับเชื้อประมาณ 6 - 20 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ มีน้ำมูกและไอต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นไอซ้อน ๆ ติดๆ กัน 5 - 10 ครั้งหรือมากกว่านั้น จนเด็กหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอและมีอาการหายใจเข้าลึก ๆ เป็นเสียงวู๊ป สลับกันไปกับการไอเป็นชุด ๆ อาการดังกล่าวอาจเป็นเรื้อรังนาน 2 - 3 เดือน ทั้งนี้ส่วนใหญ่เด็กจะได้รับเชื้อจากผู้ใหญ่ที่ป่วยและมีอาการไอ ซึ่งผู้ใหญ่มักไม่ไปพบแพทย์ เนื่องจากอาการไม่รุนแรง ทำให้แพร่เชื้อไปยังเด็กที่อยู่ในครอบครัวในที่สุด

แพทย์หญิงดารินดา กล่าวเพิ่ม วัคซีนไอกรนเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนจำเป็นต้องได้รับ เนื่องจากโรคเหล่านี้เป็นโรคร้ายแรง โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ผู้ปกครองต้องพาบุตรหลานที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ไปรับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด คือ อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน

1 ปีครึ่ง และฉีดเข็มกระตุ้นเมื่ออายุ 4 ปี สำหรับหญิงตั้งครรภ์ควรไปรับวัคซีนไอกรน ตั้งแต่อายุครรภ์ที่ 27 - 36 สัปดาห์ นอกจากนี้ผู้ใหญ่ที่อยู่ในบ้านที่มีเด็กเล็กควรไปรับวัคซีนเช่นกัน เพื่อป้องกันการเกิดโรคในผู้ใหญ่แล้วแพร่เชื้อต่อไปยังเด็กในครอบครัว ย้ำหากมีอาการของโรคไอกรน ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน และควรมีการเฝ้าระวังโรคในสถานศึกษาด้วยเพื่อป้องกันการระบาดในโรงเรียน หากมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 กรมควบคุมโรคห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

https://www.facebook.com/photo?fbid=935975708545681&set=a.315140280629230

 

 

#โรคไอกรน

#สายด่วน1422 #กรมควบคุมโรค #สคร11

เขียนข่าว ธัญญธร เยาวยอด

กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่11 จังหวัดนครศรีธรรมราช

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ