สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช
Responsive image

สคร.11 เตือนประชาชนระวังป่วยไข้กาฬหลังแอ่น หลังพบผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เตือนประชาชนระวังป่วยเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่น แนะเลี่ยงอยู่ที่แออัด สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ หากสงสัยป่วย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอแข็ง อาจมีผื่นแดง จ้ำเลือด ขึ้นตามผิวหนัง หรือสงสัยว่าสัมผัสกับผู้ป่วย ควรรีบไปพบแพทย์หรือสอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค 1442

            นายแพทย์ไกรสร โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผย สถานการณ์โรคไข้กาฬหลังแอ่น ในเขตสุขภาพที่ 11 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 พบผู้ป่วยจำนวน 3 ราย เสียชีวิต 1 ราย ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ โรคนี้ติดต่อได้โดยการสัมผัสใกล้ชิด ทางน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งต่างๆของผู้ป่วย อาการป่วยคือ เริ่มจาก มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่จะมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนังเป็นจุดแดงทั่วตัว ต่อมาเปลี่ยนเป็นจุดสีคล้ำ จนกลายเป็นสะเก็ดสีดำ จึงเรียกว่าไข้กาฬหลังแอ่น เชื้อมีระยะฟักตัว 2-10 วัน โดยเฉลี่ย 3-4 วัน จึงฝากเตือนประชาชน ให้เฝ้าระวังป้องกันโรคดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่แออัด ผู้คนหนาแน่น อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หากจำเป็นต้องเข้าไป ควรสวมหน้ากากอนามัย ป้องกันตนเองจากการสัมผัสกับละอองน้ำมูก น้ำลาย จากผู้อื่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร หรือปรุงอาหาร รักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ

          นพ.ไกรสร กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria meningitidis ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง เกิดได้ในบุคคลทุกวัย เชื้อนี้พบในลำคอของคนปกติ ประมาณร้อยละ 5 โดยไม่ทำให้เกิดโรค ผู้ติดเชื้อส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเกิดอาการโรค พบได้ประปรายตลอดทั้งปี และมีการระบาดในบางพื้นที่เป็นครั้งคราว สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลัง ไม่จำเป็นสำหรับบุคคลทั่วไป แต่ควรฉีดในภาวะต่อไปนี้ 1) มีการระบาดจากสายพันธุ์ที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน 2) ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกา หรือประเทศในตะวันออกกลาง  3) บุคคลที่ปฏิบัติงานประจำในห้องปฏิบัติการที่อาจมีการฟุ้งกระจายของเชื้อ Neisseria meningitidis ที่อยู่ในรูปของสารละลาย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ