สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช
Responsive image

สคร.11 แนะเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช  แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ เตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และระมัดระวังโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม หลังกรมอุตุนิยมวิทยาติดตามสภาพอากาศ พบว่าจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ย้ำติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด

นายแพทย์ไกรสร  โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า
มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว จึงขอให้ระมัดระวังโรคและภัยสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น และเตรียมความพร้อมหากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ติดตามข่าวและสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อาศัยอยู่
ริมแม่น้ำ น้ำตก ภูเขา และจัดเตรียมเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ใช้ในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะเครื่องอุปโภค บริโภค น้ำดื่มสะอาด
ยารักษาโรค เป็นต้น สำหรับโรคและภัยสุขภาพที่ต้องระมัดระวังน้ำท่วม ได้แก่ 1) กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ คือ
โรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม 2) กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ คือ โรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง และ 3) กลุ่มโรคที่มักเกิดตามมากับน้ำท่วม คือ โรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคฉี่หนู และโรคไข้เลือดออก ส่วนภัยสุขภาพที่ต้องระวัง คือสัตว์แมลงมีพิษกัด/ต่อย เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ เป็นต้น ไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต รวมถึงต้องระวังการจมน้ำ การขับขี่ยานพาหนะบริเวณน้ำไหลผ่าน หรือขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม เพราะระดับน้ำเพียง 6 นิ้ว ก็ทำให้รถเสียหลักและล้มได้

นายแพทย์ไกรสร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแนะนำวิธีป้องกันโรคและภัยสุขภาพ หากเกิดฝนตกหนักหรือน้ำท่วม ดังนี้ 1) กินอาหารที่ปรุงสุก ร้อน สะอาด 2) ไม่ทิ้งขยะทุกชนิด หรือขับถ่ายของเสียลงในน้ำที่ท่วมขัง 3) หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำเป็นเวลานาน ควรใส่รองเท้าบูททุกครั้ง แล้วรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและเช็ดให้แห้งทันที 4) ไม่ปล่อยให้เด็กเล็กลงเล่นน้ำโดยลำพัง เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุจมน้ำ 5) หมั่นสำรวจพื้นที่บริเวณรอบบ้าน และสำรวจเสื้อผ้าก่อนสวมใส่ป้องกันแมลงหรือสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมาหลบซ่อนกัดต่อย  6) ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียกชื้น ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนน้ำท่วม และหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟหรือเสาไฟฟ้า หากเกิดไฟฟ้ารั่ว จะมีกระแสไฟฟ้ากระจายเป็นวงกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร และที่สำคัญขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศ การแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานราชการ และเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ผู้เขียนข่าว   ธัญญธร  เยาวยอด        

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ