สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช
Responsive image

สคร.11 ชวนผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ก่อนเทศกาลสงกรานต์ เพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากโรคโควิด 19

“สคร.11 ชวนผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ก่อนเทศกาลสงกรานต์ เพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากโรคโควิด 19”

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เชิญชวนประชาชนกลุ่มอายุ 60 ปี ขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ไปฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) เสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อเพิ่มความปลอดภัย ลดอาการป่วยหนักและการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19

นายแพทย์ไกรสร โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่าเทศกาลสงกรานต์ที่ใกล้จะถึงนี้ ลูกหลานกลับบ้านเยี่ยมครอบครัว รวมตัวกัน ขอเชิญชวนประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ไปฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปที่ออกฤทธิ์ยาว หรือ LAAB เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป การให้วัคซีนปกติอาจทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่เพียงพอ และยังต้องใช้เวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันนานประมาณ 14 วัน แต่หากได้รับ LAAB ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันที่ใช้ต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ทันที และยังพบผลข้างเคียงน้อยมาก รวมถึงมีผลการศึกษาพบว่าในระยะเวลา 6 เดือนสามารถป้องกันโรคโควิดแบบมีอาการได้ถึง ร้อยละ 82.8 และสามารถยับยั้งเชื้อโอมิครอน BA2.75 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดในประเทศไทยได้

จากข้อมูลล่าสุดของประเทศไทยพบว่า สายพันธุ์ที่มีการระบาดขณะนี้เป็นสายพันธุ์ BA.2.75 ประมาณร้อยละ 86 (ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระหว่างวันที่ 14 - 20 มกราคม 2566) โดยมีข้อมูลในหลอดทดลองว่า LAAB สามารถลบล้างฤทธิ์เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2.75 (Neutralizing activity) ได้ผลดี ในเวลานี้กระทรวงสาธารณสุข จึงรณรงค์ให้มีการฉีด LAAB กับกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง เพื่อเกิดประโยชน์มากที่สุดกับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว  

นายแพทย์ไกรสร กล่าวเพิ่ม สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักที่จำเป็นต้องสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วย LAAB ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง  ได้แก่ 1) กลุ่มโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง 2) โรคหัวใจและหลอดเลือด
3) โรคไตเรื้อรังขั้นที่ 3 ขึ้นไป 4) โรคหลอดเลือดสมอง 5) โรคมะเร็งที่ให้เคมีบำบัด/รังสีบำบัด 6) โรคเบาหวาน และ
7) โรคอ้วนที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัมหรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร สามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคโควิด19 ทั้งนี้หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

ผู้เขียนข่าว   ธัญญธร  เยาวยอด 

       

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ