สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช
Responsive image

สคร.11 เตือนระวังป่วยไข้เลือดออก เน้นย้ำมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค

สคร.11 เตือนระวังป่วยไข้เลือดออก เน้นย้ำมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 เตือนในช่วงนี้โรคไข้เลือดออก มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังค้างในภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย จึงขอเน้นย้ำมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค หากมีอาการป่วยไม่ซื้อยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด NSAID (non-steroidal anti-inflammatory drug) มารับประทานเอง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องและป้องกันอาการป่วยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

นายแพทย์ไกรสร โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันคควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า คาดการณ์ว่าในปี 2566 จะพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากขึ้น โดยในปีนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ในเขตสุขภาพที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 3 มิถุนายน 2566 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม จำนวน 1,809 ราย เพศชาย 907 ราย เพศหญิง 902 ราย เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 10 - 14 ปี รองลงมาคือ 5 - 9 ปี และกลุ่มอายุ 15 - 19 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภูเก็ต รองลงมาคือ พังงา กระบี่ ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ

นายแพทย์ไกรสร กล่าวเพิ่มเติม ในช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝน ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่างๆ มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ 1) เก็บบ้านให้สะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้าน ให้มีความเป็นระเบียบ ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2) เก็บขยะ บริเวณรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งวางไข่ยุงลาย และ 3) เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งขัดขอบภาชนะ เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย ป้องกันไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยการทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง และหากประชาชนมีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัวและแขนขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากมีไข้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

#โรคไข้เลือดออก

#กรมควบคุมโรค

#สคร11

กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่11 จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้เขียนข่าว ธัญญธร เยาวยอด

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ