สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช
Responsive image

สคร.11 ห่วง ปชช.ป่วยไข้เลือดออก เน้นย้ำมาตรการป้องกันและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย แนะเป็นไข้สูงอย่าซื้อยากินเองอาจเสี่ยงเสียชีวิต

สคร.11 ห่วง ปชช.ป่วยไข้เลือดออก เน้นย้ำมาตรการป้องกันและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย แนะเป็นไข้สูงอย่าซื้อยากินเองอาจเสี่ยงเสียชีวิต

ด้วยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วงนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังในภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย หากมีอาการป่วยไข้สูงเกิน 2 วัน ให้สงสัยไข้เลือดออก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี คนอ้วน ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว แนะอย่าซื้อยากินเอง ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องและป้องกันอาการป่วยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

นายแพทย์ไกรสร โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เผยว่า ในช่วงนี้จะพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากขึ้น โดยในปีนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตสุขภาพที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 กันยายน 2566 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม จำนวน 6,046 ราย เพศชาย 2,958 ราย เพศหญิง 3,088 ราย เสียชีวิต 16 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 5 ราย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 4 ราย จังหวัดกระบี่ จำนวน3 ราย จังหวัดขุมพร จำนวน 2 ราย และจังหวัดภูเก็ต จำนวน 2 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงผู้ป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิต ได้แก่ น้ำหนักเกิน/โรคอ้วน ซื้อยามารับประทานเอง มีโรคประจำตัว และไปรักษาที่โรงพยาบาลล่าช้า

โรคไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัด ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนกางมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด ทายากันยุงหรือจุดยาไล่ยุง รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้ยุงลายมาวางไข่ การกำจัดไข่หรือลูกน้ำในภาชนะเพื่อตัดวงจรไม่ให้ลูกน้ำกลายเป็นยุงตัวเต็มวัย เป็นต้น แต่ถ้าหากถูกยุงกัดแล้วมีอาการป่วยไข้ ต้องสังเกตอาการตนเองให้ดี เพราะช่วงนี้นอกจากมีไข้เลือดออกระบาดแล้วก็ยังมีไข้หวัดใหญ่ระบาดอีกด้วย ซึ่งอาจป่วยร่วมกันได้ทั้งสองโรค อาการเด่นชัดของไข้เลือดออกที่แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ในระยะต้นๆ คือ ไข้เลือดออกจะมีไข้สูงอย่างรวดเร็วเฉียบพลัน ไข้ลดช้า ไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค ซึ่งปัจจุบันมีชุดตรวจไข้เลือดออกเด็งกี่ (NS1) ทำให้รู้ผลเร็วและรักษาได้ทันท่วงที

นายแพทย์ไกรสร กล่าวเพิ่มเติม ขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค จะป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ 3 โรค คือโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา หากมีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง กระหายน้ำ หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด มีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือรับประทานยาหรือเช็ดตัวแล้ว

ไข้ไม่ลด หรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ควรรีบไปพบแพทย์ หากสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

#โรคไข้เลือดออก

#กรมควบคุมโรค

#สคร11

กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่11 จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้เขียนข่าว ธัญญธร เยาวยอด

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ