สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช
Responsive image

ลอยกระทงปลอดภัย “ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง”

ลอยกระทงปลอดภัย “ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง”

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เตือนประชาชนระวังอุบัติเหตุและจมน้ำเสียชีวิตในช่วงวันลอยกระทง ขอให้ยึดหลัก “ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง” ย้ำผู้ปกครองต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ใหญ่ควรเลี่ยงการดื่มสุราและลงน้ำ นอกจากนี้ให้ระมัดระวังอุบัติเหตุจากการ จุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บที่รุนแรงและสูญเสียอวัยวะสำคัญได้

นายแพทย์ไกรสร โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า วันลอยกระทง เป็นประเพณีที่คนไทยปฏิบัติสืบต่อกันมาทุกปี โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 และทุกปีจะเกิดอุบัติเหตุคนจมน้ำเสียชีวิต โดยข้อมูลกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2561 - 2565) ในช่วงวันลอยกระทง 3 วัน (ก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง และหลังวันลอยกระทง) มีคนไทยจมน้ำเสียชีวิตถึง 197 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มากถึง 23 คน และวันลอยกระทงวันเดียว มีคนจมน้ำเสียชีวิตรวม 65 คน เฉลี่ยปีละ 13 คน ซึ่งสาเหตุการจมน้ำที่พบบ่อย คือ การดื่มสุรา การลงไปเก็บเงินในกระทง และการปล่อยให้เด็กลอยกระทงหรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง

นายแพทย์ไกรสร ย้ำมาตรการการป้องกันการจมน้ำ ในช่วงวันลอยกระทง คือ “ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง” ไม่เมา คือ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวันลอยกระทง ไม่เก็บ คือ ไม่ลงน้ำไปเก็บเหรียญในกระทง และไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด แม้จะลอยในกะละมัง ถังน้ำ หรืออยู่บนฝั่ง เพราะอาจพลัดตกน้ำหรือเสียหลักล้มตกน้ำได้ และหากมีการโดยสารเรือให้สวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง ทั้งนี้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่จัดงาน ขอให้ดูแลความปลอดภัยของประชาชนที่ไปร่วมงานลอยกระทง 1) มีการกำหนดพื้นที่บริเวณจัดงานให้ชัดเจน มีแสงสว่างเพียงพอ มีรั้วหรือสิ่งกั้นขวาง 2) เตรียมอุปกรณ์ชูชีพช่วยเหลือไว้ใกล้แหล่งน้ำเป็นระยะ เช่น ห่วงชูชีพ ถังแกลลอน เชือก ไม้ 3) สำหรับเรือโดยสาร ควรเตรียมเสื้อชูชีพให้เพียงพอต่อผู้โดยสาร และให้มีการสวมใส่ทุกครั้ง และ 4) จัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลสอดส่อง และช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

นอกจากนี้ ต้องระวังเรื่องการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ด้วยโดย ไม่ควรให้เด็กจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟด้วยตนเอง และไม่ควรอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว สอนให้เด็กรู้ว่าไม่ใช่ของเล่น แต่เป็นสิ่งที่อันตราย อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ไม่ควรเก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ที่จุดแล้วไม่ติดมาเล่น หรือจุดซ้ำเด็ดขาด เพราะอาจเกิดการระเบิดได้ หากจำเป็นต้องจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ในงานพิธีต่างๆ ควรอ่านคำแนะนำ อย่างละเอียด และอยู่ห่างอย่างน้อย 1 ช่วงแขน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

#กรมควบคุมโรค

#สคร11

ผู้เขียนข่าว ธัญญธร เยาวยอด

กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่11 จังหวัดนครศรีธรรมราช

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ