สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช
Responsive image

อย่าประมาท! HIV รู้เร็ว รักษาเร็ว ป้องกันได้

"อย่าประมาท! HIV รู้เร็ว รักษาเร็ว ป้องกันได้"

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช ห่วงประชาชนให้ตระหนักถึงความเสี่ยงของการ
ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ย้ำให้ประชาชนใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งทุกช่องทางที่มีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมทางเพศ
ที่ไม่ปลอดภัย ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างสม่ำเสมอเมื่อมีพฤติกรรมเสี่ยง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและการเจ็บป่วย
แพทย์หญิงดารินดา รอซะ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เอชไอวี HIV (Human Immunodeficiency Virus) คือไวรัสที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เมื่อเข้ามาในร่างกายจะทำลายเม็ดเลือดขาว (CD4) ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราเสื่อมลงเรื่อย ๆ จนป้องกันโรคแทรกซ้อนไม่ได้ หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ป่วยเป็นโรคเอดส์ได้ เชื้อ HIV สามารถติดต่อผ่าน 3 ทาง คือ 1. ทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน 2. ทางเลือด เช่น การใช้เข็มฉีดยาหรือกระบอกฉีดยาร่วมกัน การใช้อุปกรณ์ของมีคมที่ปนเปื้อนเลือดร่วมกัน โดยไม่ทำความสะอาดอุปกรณ์ให้สะอาดเพียงพอ รวมถึงการสัมผัสเลือดของผู้ติดเชื้อผ่านแผลเปิดของตนเอง และ 3. จากมารดาสู่ทารกในระหว่างการตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด ในหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รักษาด้วยยาต้านไวรัสหรือรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ และการให้นมบุตรในมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี


แพทย์หญิงดารินดา กล่าวเพิ่มว่า HIV สามารถป้องกันได้โดย 1.ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งทุกช่องทางที่มีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย 2. ตรวจคัดกรองโรคสม่ำเสมอเมื่อมีพฤติกรรมเสี่ยง หากติดเชื้อให้เข้าสู่ระบบการรักษาทันทีเพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปยังคู่และบุคคลอื่น 3.กินยาป้องกันก่อนและหลังสัมผัสเชื้อ ได้แก่ ยาเพร็พ (Pre-Exposure Prophylaxis: PrEP) ซึ่งเป็นยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อหรือก่อนมีความเสี่ยง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยจากการติดเชื้อเอชไอวีแต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ จึงยังจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และยาเป็ป (Post-Exposure Prophylaxis: PEP) ซึ่งเป็นยาป้องกันการติดเชื้อ HIV ในกรณีฉุกเฉินหลังเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น เข็มตำ ถุงยางอนามัยฉีกขาดขณะมีเพศสัมพันธ์ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น โดยต้องรับประทานให้เร็วที่สุดภายใน 72 ชั่วโมง หลังมีความเสี่ยง ยิ่งรับประทานยาเร็วประสิทธิภาพ ในการป้องกันจะยิ่งดี 4. ไม่ใช้เข็มและกระบอกฉีดยา รวมถึงของที่ปนเปื้อนเลือดกับผู้อื่น นอกจากนี้แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์ครั้งแรกที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อ HIV ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบ บี ร่วมไปถึงคู่ของหญิงตั้งครรภ์ หากพบการติดเชื้อให้เริ่มยาต้าน HIV โดยเร็วที่สุดและรับประทานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อลดโอกาสส่งต่อเชื้อไปยังทารก


ทั้งนี้คนไทยสามารถตรวจการติดเชื้อเอชไอวี ฟรี ปีละ 2 ครั้ง รับบริการได้ที่โรงพยาบาลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หากติดเชื้อเอชไอวี สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันที ฟรี คลอบคลุมทุกสิทธิ์การรักษา หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 “กรมควบคุมโรคห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี”

https://www.facebook.com/share/p/193yytvxz4/
---------------------------------
ผู้เขียนข่าว ธัญญธร เยาวยอด
กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ
#สคร11
#สายด่วนกรมควบคุมโรค1422
#กรมควบคุมโรคห่วงใยอยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี
#HIV

ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร

ข่าวสารอื่นๆ