มือ เท้า ปาก โรคระบาดเด็กเล็ก รู้ทันก่อน…ป้องกันได้ !!
ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ สภาพภูมิอากาศที่ร้อนชื้นเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อ โรคดังกล่าวมีแนวโน้มพบอัตราป่วยมากที่สุดในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน ดังนั้น สถานศึกษาต้องมีมาตรการคัดกรอง และสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียนทุกเช้า ให้เด็ก และพี่เลี้ยง เน้นล้างมือด้วยสบู่ และของเล่นเด็ก หมั่นทำความสะอาด 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ถ้ามีเด็กป่วยให้เด็กหยุดเรียน และทำความสะอาด Big Cleaning Day เพื่อเฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก
สถานการณ์ภาพประเทศโรคมือ เท้า ปาก (ข้อมูลกองระบาดวิทยา ปี 2568) พบผู้ป่วยจำนวน 13,286 ราย (ไม่พบผู้เสียชีวิต) สำหรับสถานการณ์ของโรค มือ เท้า ปาก เขตสุขภาพที่ 6 พื้นที่ภาคตะวันออก ปี 2568 มีรายงานผู้ป่วย จำนวน 1,417 ราย (ไม่พบผู้เสียชีวิต) ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 0-4 ปี รองลงมา อายุ 5-9 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ สามารถติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัส เข้าทางปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำ จากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน ซึ่งโรคมือ เท้า ปาก สามารถพบโรคนี้ได้ตลอดทั้งปี
อาการของโรคมือ เท้า ปาก มีอาการไข้ เจ็บปาก น้ำลายไหล กินอาหารได้น้อย เนื่องจากมีแผลที่กระพุ้งแก้ม และเพดานปาก มีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้นและอวัยวะเพศ อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขาได้มักมีอาการประมาณ 2 – 3 วัน และดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง บางรายอาจมีภาวะขาดน้ำจากกินอาหารและ น้ำน้อยลง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี จึงขอเน้นย้ำให้สถานศึกษาโดยเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล สังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดและเฝ้าระวัง การคัดกรองเด็กทุกเช้า การแยกเด็กป่วย และควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดต่อไปได้ โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคมือ เท้า ปาก ดังนี้
1. คัดกรองเด็กนักเรียน ครู และบุคลากร ก่อนเข้าสถานศึกษา หากพบเด็กป่วยให้แยกออกจากเด็กปกติ และแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน เพื่อพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
2. หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ผู้ปกครองควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่บ้าน จนกว่าจะหาย
3. หากมีเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก มากกว่า 2 ราย ภายในห้องเรียนเดียวกันใน 1 สัปดาห์ ต้องปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วย อย่างน้อย 1 วัน เพื่อทำความสะอาดและเฝ้าระวังคัดกรองเด็กป่วยให้เข้มข้นต่ออีก 1 สัปดาห์
4. ทำความสะอาด และทำลายเชื้อบริเวณพื้น ผนัง เพดาน ทั้งในและนอกอาคาร ของเล่น และของใช้ส่วนตัว
5. ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่หรือเจลล้างมือ
6. สวมใส่หน้ากากอนามัย
7. มีการดูแลสุขาภิบาลอนามัยสิ่งแวดล้อม
8. งดไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด
ขอเน้นย้ำผู้ปกครองและครู ช่วยกันดูแลสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ หากพบว่ามีอาการข้างต้น ให้พิจารณาหยุดเรียนและรักษาจนหาย ทั้งนี้ หากพบว่าบุตรหลานป่วยโรคมือ เท้า ปาก ผู้ปกครองควรแจ้งให้ทางโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กทราบ เพื่อทำการค้นหาเด็กที่อาจป่วยเพิ่มเติม
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร