สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ
Responsive image

สรป.คร.วางแผนแก้ไขปัญหาการเข้าถึงวัคซีนโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ในเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ แบบมีส่วนร่วมกับชุมชน อ.นาน้อย จ.น่าน

วันนี้ (3 พฤษภาคม 2567) ณ โรงพยาบาลนาน้อย จังหวัดน่าน สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค (สรป.คร.) ลงพื้นที่จัดงานประชุมเชิงปฎิบัติการ การประเมินชุมชนอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เข้าใจถึงอุปสรรคการเข้าถึงวัคซีนโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ในเด็กกลุ่มประชากรข้ามชาติ เเละกลุ่มชาติพันธุ์ จังหวัดน่าน ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 2-3 พฤษภาคม 2567

สพญ.ดร. สุดารัตน์ ดำรงค์วัฒนโภคิน ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่าตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้กลับมาร่วมทำงานกับพี่น้องในพื้นที่อำเภอนาน้อยอีกครั้ง หลังจากการประชุมเชิงปฎิบัติการครั้งที่ 1 เมื่อเดือน มกราคม 2567 ที่มีการเเนะนำเครื่องมือการประเมินชุมชนเเบบรวดเร็ว  Rapid Community Assessment (RCA) เเละมีการฝึกซ้อมสัมภาษณ์ ของ อสม. ก่อนลงเก็บข้อมูลจริง โดยเเบ่งเป็น 3  กลุ่ม ตามหมู่บ้าน คือ หมู่ 3 บ้านขุนสถาน หมู่ 9 บ้านเเสนสุข เเละหมู่ 11 บ้านเรืองสว่าง และมีการลงพื้นที่ผึกปฏิบัติจริงของ อสม. ณ โรงเรียนประกิตเวชศักดิ์  ในการสัมภาษณ์ผู้ปกครอง เพื่อเก็บข้อมูลปัญหาเเละอูปสรรคการเข้าถึงวัคซีนโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน เเละทีมงานจาก สรป.คร. ได้ดำเนินการสัมภาษณ์กลุ่ม (Focus Group Discussion) ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่รพ.สต. เเละครูอนามัยโรงเรียน ถึงความต้องการของชุมชนเกี่ยวกับวัคซีนโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก รวมถึงปัญหา อุปสรรค เเละข้อเสนอเเนะในการเเก้ไข  หลังจากนั้น อสม.ได้ดำเนินการสัมภาษณ์ผู้ปกครองจาก 3 หมู่บ้าน ในเรื่องการเข้าถึงวัคซีนดังกล่าว ตลอดเดือนมีนาคม เเละจัดส่งข้อมูลให้สรป.คร. ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล

วัตถูประสงค์ในการจัดประชุมในครั้งนี้ เพื่อเป็นการคืนข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เเละชุมชน ในพื้นที่ เเละร่วมกันจัดอันดับความสำคัญเเละกิจกรรมเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน (Community Participation and Engagement) ในการแก้ไขปัญหาเเละเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนโรคโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ในเด็กกลุ่มประชากรข้ามชาติ เเละกลุ่มชาติพันธุ์ ของอ.นาน้อย อย่างมีประสิทธิภาพเเละยั่งยืน โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจากศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข

นายแพทย์วิษณุ มงคลคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาน้อย กล่าวว่า พื้นที่อำเภอนาน้อยยังมีความท้าทายในการเข้าถึงวัคซีนพื้นฐาน ที่มีความสำคัญต่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ดังนั้นจึงให้ความสำคัญในการเข้าถึงวัคซีนพื้นฐานที่มีคุณภาพจากทางกระทรวงสาธารณสุข การประชุมครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้เข้าใจปัญหาเเละอุปสรรคของชุมชนในการเข้าถึงวัคซีน รวมถึงมีการวางแผนร่วมกับชุมชนในแก้ไขปัญหา ทางโรงพยาบาลนาน้อยยินดีร่วมมือกับชุมชนในการเพิ่มความครอบคลุมของการเข้าถึงวัคซีนพื้นฐานและสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนต่อไป

นายชัช ไชยโส หัวหน้ากลุ่มพัฒนาภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ ตัวแทนคณะทำงานจาก สรป.คร. กล่าวถึงข้อค้นพบอุปสรรคของการรับวัคซีนโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองจาก 3 หมู่บ้านของอำเภอนาน้อยที่ได้รับวัคซีนดังกล่าวต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (ร้อยละ 90) ได้แก่ การลืมนัด เนื่องจากภาระงาน และไม่ได้ตรวจสอบวันนัด  ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเเละวัคซีนคอตีบ ไอกรนและบาดทะยัก ผู้ปกครองทำงานในพื้นที่ห่างไกลจากหน่วยบริการฉีดวัคซีน (รพ.สต. บ้านขุนสถาน) ไม่สามารถไปตามนัดได้ การให้บริการวัคซีนไม่สอดคล้องของกับวิถีชีวิตของชุมชนในบางช่วงเวลาเเละฤดูกาล ความเพียงพอและไม่ทราบรายละเอียดของวัคซีนที่ให้บริการ ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ทำให้เด็กมีไข้ ไม่สบาย ต้องดูเเลเด็ก ทำให้สูญเสียรายได้

ด้านมุมมองของผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่ รพ.สต. พบว่า ผู้นำชุมชนเเละเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ให้ความสำคัญกับเรื่องวัคซีน เเต่เจ้าหน้าที่รพ.สต.มีภาระงานและจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอ ทำให้มีข้อจำกัดในการให้ความรู้กับผู้ปกครองในเรื่องโรคเเละวัคซีน เเละทำให้ไม่สามารถติดตามการมารับวัคซีนได้ใกล้ชิด ด้านมุมมองของครูอนามัยในโรงเรียนแจ้งว่า ผู้ปกครองหรือดูแลเด็กใช้การรักษาด้วยสมุนไพรและจะมาโรงพยาบาลหรือ รพ.สต. เมื่อเด็กมีอาการรุนแรง

ผลลัพธ์จากการจัดอันดับความสำคัญของปัญหาการเข้าถึงวัคซีนที่เกิดขึ้นในชุมชนที่ต้องการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ได้แก่ 1) ปัญหาผู้ปกครองขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีน (ชนิด ประโยชน์ ผลข้างเคียง)  2) การลืมนัดของผู้ปกครอง และ 3) ขาดความตระหนักในการดูวันนัดรับวัคซีน โดยชุมชนได้ร่วมกันกำหนดขอบเขตของกิจกรรมในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ การแจ้งเตือนวันนัดหมายฉีดวัคซีน ผ่านการจัดทำเเละส่งต่อฐานข้อมูลจากรพ.สต.ไปยัง อสม.เเละผู้นำชุมชนเพื่อเตือนผู้ปกครองให้พาเด็กไปรับวัคซีน ผ่านการเคาะประตูบ้าน การประกาศผ่านเสียงตามสาย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังส่งเสริมความรู้เรื่องโรคและวัคซีน การดูแลเด็กหลังได้รับวัคซีน รวมถึงความสำคัญเเละการใช้สมุดสีชมพูแก่ ครู อสม. ผู้นำชุมชน เเละผู้ปกครอง ร่วมกับจัดทำสื่อให้ความรู้ /แผ่นพับ / โปสเตอร์ 2 ภาษา 

ผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอนาน้อย โรงพยาบาลนาน้อย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านขุนสถาน องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน องค์การบริหารส่วนตำบลสันทะ โรงเรียนประกิตเวชศักดิ์ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านขุนสถาน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวเเทนผู้ปกครอง ประธานเเละอาสาสมัครสาธารณสุข รวมกว่า 40 ท่าน

 


ข่าวสารอื่นๆ