สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ
Responsive image

จังหวัดสุรินทร์ ไทย - จังหวัดอุดรมีชัย กัมพูชา เห็นชอบ 5 ข้อพัฒนาทำงานร่วมกัน หลังซ้อมแผนประสานงานระหว่างประเทศกรณีไข้หวัดนกพื้นที่ในชายแดน

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมบีลีฟ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค จัดประชุมเชิงปฏิบัติการซ้อมแผนประสานงานระหว่างประเทศ (ไทย – กัมพูชา) กรณีโรคไข้หวัดนก นำโดย สพญ.ดร.เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค ประธานฝ่ายไทย และ Dr.Teng Srey รองอธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ ประธานฝ่ายกัมพูชา มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 70 คน จากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ปศุสัตว์ และหน่วยงานภาคส่วนอื่นๆ ของจังหวัดสุรินทร์ ประเทศไทย และจังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา  โดยมีผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมซ้อมแผนจากหน่วยงานส่วนกลาง นำโดย นพ.วิชาญ บุญกิติกร ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา ผู้แทนกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา และผู้แทนสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S.CDC) ภายใต้แผนกิจกรรมโครงการพัฒนาศักยภาพและกำลังคนเพื่อเสริมสร้างการเตรียมความพร้อมและตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (DGHP-iEOC)

นายแพทย์สินชัย ตันติรัตนานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ กล่าวต้อนรับ และรู้สึกยินดีที่จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชาซึ่งมีพื้นที่ติดระหว่างกัน ร่วมกันการดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งสองประเทศโดยการเตรียมพร้อมหากมีภัยสุขภาพโดยเฉพาะโรคติดต่ออุบัติใหม่เกิดขึ้นตามแนวชายแดน เช่น โรคไข้หวัดนก การประชุมนี้จะส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือด้านแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเสริมสร้างเครือข่ายที่ดีระหว่างจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดอุดรมีชัยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

สพญ.ดร.เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ ทั้งสองจังหวัดชายแดนเห็นชอบในการทำงานร่วมกันใน 5 ประเด็น ดังนี้
1. ปรับผังการติดต่อประสานงานระหว่างประเทศ (สุรินทร์-อุดรมีชัย) เพิ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับป้องกันโรคไข้หวัดนก อาทิหน่วยงานปศุสัตว์ระดับเขต, จังหวัด, อำเภอ และด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ และปรับจุดเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสานงานทั้งสองจังหวัดให้อยู่ระดับเดียวกัน

2. จัดตั้งและมอบหมายผู้ประสานงานหลัก ในระดับจังหวัดและอำเภอ (สุรินทร์-อุดรมีชัย) ให้ชัดเจน และสามารถติดต่อประสานงานได้จริง

3. ยืนยัน ช่องทางการประสานงานระหว่างประเทศกรณีโรคระบาด หรือสถานการณ์โรคประจำสัปดาห์/เดือนผ่านโปรแกรม Telegram

4. พัฒนาและอบรมการประเมินความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพของทั้งสองจังหวัดชายแดน

5. สนับสนุนกลไกการทำงานเมืองคู่มิตรด้านการป้องกันควบคุมโรคระหว่างประเทศ

“การพัฒนาที่เกิดขึ้นที่เสริมสร้างกลไกการประสานงานระดับจังหวัดมุ่งสู่ความเข้มแข็งระดับประเทศ และควรมีการสนับสนุนให้มีการประชุมอย่างเป็นประจำต่อเนื่องต่อไป” นายแพทย์ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าว

“ขอบคุณหน่วยงานกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ที่จัดการประชุมที่มีประโยชน์ ทำให้สองจังหวัดในสองประเทศเตรียมพร้อมการตอบโต้ และพัฒนาความร่วมมือที่เข้มแข็งพร้อมสนับสนุนการมีเครือข่ายทำงานระหว่างร่วมกันประเทศ ต่อไปอย่างยั่งยืน”  Dr.Teng Srey กล่าว


ข่าวสารอื่นๆ