กองป้องกันการบาดเจ็บ
Responsive image

[FP] Fall Prevention


Fall Prevention in the Elderly

การป้องกันพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ

ประเทศไทยเผชิญกับสังคมสูงแบบสมบูรณ์ (complete age society) นั่นหมายว่า มีประชากรผู้สูงอายุไทย 60+ ปี มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรไทยทั้งหมด โดยในปี พ.ศ. 2566 มีจำนวนผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 20.08 แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ปัญหาการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุมีความสำคัญยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นสาเหตุหลักของการบาดเจ็บรุนแรงและทุพพลภาพในช่วงวัยนี้ จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย พบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุจะหกล้มทุกปี โดยร้อยละ 20 ของผู้หกล้มจะได้รับการบาดเจ็บ และผู้หญิงหกล้มสูงกว่าเพศชาย 1.6 เท่า โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. ปัจจัยเสี่ยงทางด้านร่างกาย: การมีโรคประจำตัวเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งของการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ อีกทั้งต้องใช้ยาหลายชนิดที่เพิ่มความเสี่ยงล้ม รองลงมาคือการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ ทำให้ระบบกล้ามเนื้อ การทรงตัว การเคลื่อนไหวร่างกายไม่แข็งแรง นอกจากนี้ภาวะขาดสารอาหาร (เช่น การขาดโปรตีน ธาตุอาหาร วิตามิน) การบาดเจ็บของเท้า ประสาทสัมผัสการรับรู้ที่บกพร่อง ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางด้านร่างกายที่พบได้เช่นกัน

2. ปัจจัยเสี่ยงทางด้านสภาพแวดล้อม: ผู้สูงอายุพักอาศัยอยู่ในบ้านที่ไม่ปลอดภัยถึงร้อยละ 80 เกิดเหตุหกล้มในห้องน้ำถึงร้อยละ 30 ยกตัวอย่าง พื้นเปียกลื่น ห้องน้ำไม่มีราวจับ ไม่ใช้เก้าอี้นั่งอาบน้ำ มีพื้นต่างระดับ สิ่งของขวางกั้น มีแสงสว่างไม่เพียงพอ เป็นต้น นอกจากนี้การแต่งกายและการเลือกใช้รองเท้าที่ไม่เหมาะสมมีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มได้เช่นกัน

การบาดเจ็บจากพลัดตกหกล้มมีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขั้นเสียชีวิต รวมทั้งอาจทำให้เกิดความพิการทุพลภาพ ต้องพึ่งพาผู้อื่น คุณภาพชีวิตลดลง อายุขัยสั้นลง กระทบต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจของประเทศ

1,472

คือจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่เสียชีวิตจากพลัดตกหกล้ม ในปี 2566

71,035

คือจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่บาดเจ็บต้องเข้าพักรักษาในโรงพยาบาลจากพลัดตกหกล้ม ในปี 2566

~1,500 ล้านบาท

คือประมาณการค่าใช้จ่ายต่อปีในการดูแลผู้สูงอายุที่บาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้ม




ข่าวสารอื่นๆ