สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

สคร.7 ขอนแก่น เผยสถานการณ์ PM2.5 ในบางพื้นที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ แนะเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอาจมีอาการกำเริบ

           สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากกรมควบคุมมลพิษ ประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง จนถึง เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ สารมลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐานได้แก่ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ณ เวลา 12.00 น. เกินมาตรฐานที่บริเวณ  ต.กาฬสินธุ์ อ.เมือง, กาฬสินธุ์ และมีค่าสูงใกล้เคียงค่ามาตรฐานที่กำหนดที่ ต.ในเมือง อ.เมือง, ขอนแก่น (ขอนแก่นค่าฝุ่น PM2.5 = 36.7 ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน 37.5) พร้อมแนะให้เฝ้าระวังสุขภาพ หากมีอาการ ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากมีความจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะผู้ที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นอย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นเวลานาน นักกีฬาที่ออกกำลังกลางแจ้งเป็นประจำ และตำรวจจราจรที่ทำงานกลางแจ้ง ควรสวมหน้ากาก สวมแว่นตา เสื้อแขนยาวเพื่อป้องกันฝุ่น หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง

              นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล  ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้ เปิดเผยสถานการณ์เฝ้าระวังสภาพอากาศในพื้นที่รับผิดชอบสี่จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ตั้งแต่วันที่ 15 -31 มกราคม 2567  พบสูงสุดอยู่ที่ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มีผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ พบปริมาณฝุ่น PM2.5 เท่ากับ 91.93 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง   หากเริ่มมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก/ถี่ หรือมีเสียงวี๊ด หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ มีผื่นคัน ผื่นแพ้ เยื่อบุตาอักเสบ หรือวิงเวียนศีรษะ ควรปรึกษาแพทย์ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังเป็นพิศษคือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคทางเดินหายใจ และโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะฝุ่น PM2.5 อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว และอาจทำให้ความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้น จึงขอความร่วมมือประชาชนในทุกพื้นที่งดเผาวัชพืช ตอซังข้าว ต้นข้าวโพด ใบอ้อยในที่โล่ง ซึ่งเป็นสาเหตุปัจจัยหลักของการเกิดฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5   ส่วนวิธีป้องกันและดูแลสุขภาพตนเองสามารถทำได้โดยสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ชนิดที่มีแผ่นกรองคาร์บอนหรือชนิด N95   พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ กรณีที่ไม่มีหน้ากากชนิด N95 แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย  2 ชั้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มการคัดกรองฝุ่นได้มากยิ่งขึ้น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กPM2.5 จากแอปพลิเคชัน "Air4Thai" หรือเว็บไซต์ www.air4thai.com ของกรมควบคุมมลพิษ หรือ แอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)  เป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสและหาวิธีป้องกันฝุ่นที่เหมาะสม  นอกจากนี้ยังต้องปฏิบัติควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ เพื่อความปลอดภัยอย่างสูงสุด หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

 

*************************************

ข้อมูลจาก : กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม/

กรมควบคุมมลพิษ /สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567

 


ข่าวสารอื่นๆ