สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

แพทย์เป็นห่วง “ไข้เลือดออก” กลับมาใหม่หลังฝนตกทิ้งช่วง

      นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 22 มิถุนายน 2567 ประเทศไทยพบรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 39,216 ราย มากกว่าปี 2566 ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ถึง 1.2 เท่า

       สำหรับสถานการณ์ ในเขตสุขภาพที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์) ได้รับรายงานผู้ป่วยทั้งสิ้น 1,150 ราย พบผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยสูงที่สุด คือกลุ่มอายุ 10-14 ปี  พบจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ จังหวัดมหาสารคาม  เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกลงมา โดยปกติโรคไข้เลือดออกจะระบาดมากในฤดูฝนของทุกปี สิ่งสำคัญคือ ควบคุมโรคอย่างรวดเร็วหากพบผู้ป่วย และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์และลูกน้ำยุงลาย เพื่อลดจำนวนยุงลายพาหะนำโรคให้เหลือน้อยที่สุด  หากปล่อยให้มีแพร่โรคในฤดูกาลระบาดแล้วจะทำให้การควบคุมโรคทำได้ยากยิ่งขึ้น ซึ่งกรมควบคุมโรคได้เน้นมาตรการสำคัญในการจัดการปัญหาไข้เลือดออก คือมาตรการสามเก็บคือ “เก็บบ้าน เก็บน้ำให้มิดชิด เก็บขยะ” นอกจากมาตรการ สามเก็บแล้วขอให้เพิ่มอีก 1 ท.คือ "ทายากันยุง"  ซึ่งสามารถไล่ยุงได้นาน 6 ชั่วโมง  พร้อมทั้งเสนอมาตรการ “4 เน้น 4 เดือน” เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในช่วงดังกล่าว ได้แก่ 1) เน้นการเฝ้าระวังโรคและยุงพาหะ โดยการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย 2) เน้นการตอบโต้ และควบคุมยุงพาหะ โดยหน่วยงานสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุมโรคไข้เลือดออกให้มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาการ 3) เน้นการวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว โดยผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไข้เลือดออกทุกรายควรได้รับการคัดกรองตรวจวินิจฉัยด้วยชุดตรวจไข้เลือดออกแบบรวดเร็ว ในหน่วยบริการปฐมภูมิ  4) เน้นการสื่อสารความเสี่ยง ให้ร้านขายยาและสถานบริการทางการแพทย์งดจ่ายยากลุ่ม ลดปวดคลายกล้ามเนื้อ ให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคไข้เลือดออก เพราะยากลุ่มนี้ทำให้เกิดการระคายเคืองกับกระเพาะอาหาร ทำให้เกล็ดเลือดไม่แข็งตัวอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น

          ย้ำ “อาการของไข้เลือดออก คือ ไข้สูงลอยเกิน 2 วัน (ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส) เบื่ออาหาร อาเจียน  ไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ กินยาแล้วไข้ไม่ลดลงภายใน 1-2 วัน ถ้ามีอาการใดอาการหนึ่ง ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาให้ทันท่วงที  ซึ่งช่วงที่อันตรายของโรค คือ ช่วงที่ไข้ลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่เข้าสู่ระยะช็อก ซึ่งหากรักษาไม่ทันจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ และพบว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เนื่องมาจากมาพบแพทย์ช้าเกินไป ในช่วงที่ไข้ลดแล้วช็อกนั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อป่วยมีไข้สูง ไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ อย่านิ่งนอนใจรีบไปพบแพทย์ทันที หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422”

 

 

 

******************************

ที่มาข่าว : สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค / กลุ่มระบาดวิทยา สคร.7 ขอนแก่น / ศตม7.1 ขอนแก่น

เผยแพร่ :  กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ  สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น โทร 043-222818-9 ต่อ 601


ข่าวสารอื่นๆ