โรคเมลิออยด์ (ไข้ดิน) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มีโอกาสพบได้บ่อยในช่วงหน้าฝน รวมถึงในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ที่พบได้ในดินและน้ำ ภูมิภาคที่มีโอกาสพบโรคนี้ได้บ่อยที่สุดก็ได้แก่ พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมถึงภาคใต้ของประเทศไทย กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงเมื่อป่วยด้วยโรคไข้ดินได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ธาลัสซีเมีย ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยโรคไตวาย รวมถึงในคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น แสดงความเป็นห่วงประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือผู้ที่สัมผัสกับดินและน้ำโดยตรง ได้แก่ ชาวนา ชาวสวนที่ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ โดยไม่สวมถุงมือหรือสวมรองเท้าบูธป้องกัน โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัวได้แก่ โรคเบาหวาน ธาลัสซีเมีย โรคปอด โรคไต โรคมะเร็ง ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
ซึ่งโรคเมลิออยด์ (ไข้ดิน) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในดินและน้ำ ติดเชื้อจากการสัมผัสเชื้อที่มีอยู่ในดินหรือน้ำ กินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนๆนั้น ถ้าปริมาณเชื้อที่รับเข้ามามีมากก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบเฉียบพลัน และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไข้สูง ผู้ป่วยครึ่งหนึ่งมีอาการคล้ายปอดอักเสบติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยงที่สุดคือ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง คำแนะนำ คือ หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากใครที่สัมผัสมาแล้วควรรีบทำความสะอาดมือ เท้า ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับน้ำ ดิน หรือโคลนให้สะอาด หรือถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องลุยน้ำหรือจะต้องย่ำดินโคลนต้องสวมรองเท้าบูธ ใส่กางเกงขายาว หรือชุดลุยน้ำให้เรียบร้อย และถ้าหากพบแผลฝีหนองขึ้นบริเวณร่างกาย และมีอาการที่ได้ระบุไว้เบื้องต้นนี้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยทันที เพราะหากปล่อยไว้ แผลอาจจะลุกลาม หรือเกิดการอักเสบเพิ่มขึ้นได้ แนะวิธีการป้องกันโรคเมลิออยด์สามารถทำได้ ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุดลุยน้ำ หลังสัมผัสดินและน้ำให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที 2.ทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาดหรือต้มสุกทุกครั้ง 3.หากมีอาการไข้สูงร่วมกับมีประวัติการสัมผัสดินและน้ำให้รีบพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
************************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค / กลุ่มโรคติดต่อทั่วไป สคร.7 ขอนแก่น
เผยแพร่ : วันที่ 16 กันยายน 2567 กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น