สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

28 ก.ย. 67 วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก สคร.7 จ.ขอนแก่น เตือน!! โรคพิษสุนัขบ้าอันตราย หากติดเชื้อและแสดงอาการแล้วผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย แนะหากถูกสุนัข แมว กัด ข่วน แม้มีแผลเล็กน้อย ให้ล้างแผล ใส่ยา กักหมา และหาหมอเพื่อฉีดวัคซีน

นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่นกล่าวว่า องค์กรรณรงค์ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าโลก กำหนดให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก หรือ World Rabies Day เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั่วโลกตระหนักถึงความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มียารักษา หากป่วยแล้วจะเสียชีวิตทุกราย

โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ตลอดทั้งปีเกิดขึ้นได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว โค หนู กระรอก กระต่าย ลิง ค้างคาว คน เป็นต้น ในประเทศไทยพบมากในสุนัข แมว และโค สามารถติดเชื้อได้จากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อ กัด ข่วน เลียบริเวณแผล รวมทั้งการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อ และน้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หากได้รับเชื้อผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ คันรุนแรงบริเวณบาดแผล กลัวแสง กลัวลม กลืนอาหารไม่ได้โดยเฉพาะของเหลว และหายใจลำบากเนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลมเป็นอัมพาต และเมื่อแสดงอาการแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย

สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 (จ.ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 30 กันยายน 2567 พบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน
16 ตัวอย่าง มีผู้สัมผัสโรค 91 ราย โดยทุกรายได้รับการดูแลรักษาตามแนวทางเวชปฏิบัติ และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่

นายแพทย์สมาน กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้ด้วยการยึดหลัก 5 ย. ได้แก่ 1. อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห หรือตกใจ 2. อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว หรือ ทำให้สุนัขตกใจ 3. อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4. อย่าหยิบ หรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกิน และ 5. อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขที่ไม่รู้จัก ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ

หากถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้จะมีแค่รอยถลอกหรือบาดแผลเล็กน้อยก็อย่าชะล่าใจ ให้รีบล้างแผลทันทีด้วยน้ำและสบู่หลายๆครั้ง เช็ดแผลให้แห้งและใส่ยาฆ่าเชื้อ จากนั้นไปสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และต้องฉีดวัคซีนให้ครบชุดตามแพทย์นัดทุกครั้ง และควรกักสุนัขหรือสัตว์ที่กัดไว้ดูอาการ 10 วัน ส่วนประชาชนที่เลี้ยงสุนัขและแมวต้องนำสัตว์เลี้ยงทุกตัวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี ควรมีการคุมกำเนิดสัตว์เลี้ยงเพื่อไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป และไม่นำสุนัขและแมวไปปล่อยตามที่สาธารณะต่างๆ

***************************************************
ข้อมูล : กลุ่มโรคติดต่อทั่วไป สคร.7 จ.ขอนแก่น
ข่าว/เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงฯ สคร.7 จ.ขอนแก่น
วันที่ 28 กันยายน 2567


ข่าวสารอื่นๆ