สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

เลปโตสไปโรซีส  หรือโรคฉี่หนู  มักพบการระบาดในฤดูฝน 

เลปโตสไปโรซีส  หรือโรคฉี่หนู  มักพบการระบาดในฤดูฝน 

 โรคเลปโตสไปโรซิส หรือ ฉี่หนู เป็นโรคที่มักพบในฤดูฝนจากรายงานการเฝ้าระวังโรคเลปโตสไปโรซีสของ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น ณ วันที่ 18 มิถุนายน 2563 พบว่า มีรายงานผู้ป่วยโรคเลปโตสไปโรซิส สะสมทั่วประเทศไทยรวม 466 ราย มีผู้เสียชีวิต 5 ราย อัตราป่วยต่อแสนประชากร คิดเป็นร้อยละ 0.70 ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 45 – 54  ปี อาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ เกษตรกร การกระจายการเกิดโรคเลปโตสไปโรซีสรายภาค พบว่า ภาคกลาง มีอัตราป่วยสูงที่สุด ส่วนใหญ่พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง  สำหรับสถานการณ์ในเขตสุขภาพที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์) พบรายงานผู้ป่วย 30 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย อัตราป่วยต่อแสนประชากร คิดเป็นร้อยละ 0.72

สาเหตุ อาการและการป้องกัน

โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เกิดจากสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียรูปเกลียว ที่มีชื่อว่า เล็บโตสไปร่าอินเทอโรแกนส์ (Leptospira interrogans) มักพบการระบาดในหน้าฝน หรือช่วงที่มีน้ำท่วมขัง สัตว์ที่แพร่เชื้อโรคนี้ ได้แก่ พวกสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู แต่ไม่มีอาการแสดงในสัตว์ สัตว์จะเก็บเชื้อไว้ที่ไต ดังนั้นเมื่อฉี่ออกมาจะมีเชื้อนี้ปนอยู่ด้วยจึงเป็นที่มาของคำว่า “โรคฉี่หนู” นอกจากจะพบเชื้อนี้ในหนูแล้วยังพบได้ใน สุนัข วัว ควาย เชื้อโรคนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ 2 ทางคือ

  1. ทางตรง โดยการสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้ออยู่ หรือ โดนสัตว์ที่มีเชื้อกัด
  2. ทางอ้อม เช่น เชื้อจากฉี่หนูปนอยู่ในน้ำหรือดิน แล้วเข้าสู่คนทางบาดแผล

กลุ่มบุคคลที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค

  • เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ชาวสวน
  • คนงานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โค สุกร ปลา
  • กรรมกรขุดท่อระบายน้ำ เหมืองแร่ โรงฆ่าสัตว์
  • กลุ่มอื่นๆ เช่น แพทย์ สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ห้องทดลอง ทหารตำรวจที่ปฏิบัติงานตามป่าเขา
  • กลุ่มประชาชนทั่วไป มักเป็นเกิดในที่มีน้ำท่วม ผู้ที่บ้านมีหนูมาก ผู้ที่ปรุงอาหารหรือรับประทานอาหารที่ไม่สุก หรือปล่อยอาหารทิ้งไว้โดยไม่ปิดฝา
  • กลุ่มผู้สัมผัสแหล่งที่ทำให้เกิดโรค เช่น ผู้มีอาชีพเก็บของป่า ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับป่าไม้ พระที่ออกธุดงภ์ รวมถึงผู้ที่ชอบเดินป่า ท่องเที่ยวตามแม่น้ำ ทะเลสาบ น้ำตกเป็นต้น

การติดต่อของโรค

  • เมื่อคนสัมผัสเชื้อซึ่งอาจจะเข้าทางแผล เยื่อบุในปากหรือตา หรือแผล ผิวหนังปกติที่เปียกชื้น เชื้อก็สามารถไชผ่านไปได้เช่นกัน
  • เชื้ออาจจะเข้าร่างกายโดยการดื่มหรือกินอาหารที่มีเชื้อระยะฟักตัวของโรค โดยเฉลี่ยประมาณ 10 วันหรืออยู่ระหว่าง 4-19 วัน ระยะติดต่อการติดต่อจากคนสู่คนเกิดได้น้อยมาก

 

 

 

อาการแสดงที่สำคัญ ได้แก่

  1. ภาวะเยื่อบุตาบวมแดงเกิดขึ้นในตาทั้งสองข้างภายใน3 วันแรกของโรค และอยู่ได้นานตั้งแต่ 1-7 วัน อาจจะพบร่วมกับเลือดออกที่ตาขาวข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้
  2. กดเจ็บกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่อง
  3. มีเลือดออกแบบต่างๆ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง เช่นจุดเลือดออกตามผิวหนัง  petechiae ผื่นเลือดออก purpuric spot เลือดออกใต้เยื่อบุตา conjunctival haemorrhage หรือเสมหะเป็นเลือด
  4. ผื่น อาจจะพบได้หลายแบบ ผื่นแดงราบ ผื่นแดง ผื่นลมพิษ
  5. อาการเหลือง อาการเหลืองมักเกิดวันที่4-6 ของโรค

 การป้องกัน

  1. กำจัดหนูโดยการใช้กับดัก และ สวมชุดป้องกันระมัดระวังเมื่อต้องอยู่แหล่งเสี่ยงในชุมชน เช่น ยุ้งฉางข้าว ห้องครัว ห้องเก็บของ  เป็นต้น
  2. ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ท ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อผ้า
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะ ของโรคดังกล่าว
  4. หลีกเลียงการว่ายน้ำที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่
  5. หลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสปัสสาวะโค กระบือ หนู สุกร และไม่ใช้แหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ หลีกเลี่ยงอาหารที่ปล่อยค้างคืน โดยไม่มีภาชนะปกปิด เป็นต้น
  6. หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำหรือต้องลุยน้ำ ลุยโคลนเป็นเวลานานๆ
  7. ควรทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วหากแช่ หรือ ยำลงไปในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ

 

***************************************************

 

 

 

ข้อมูล : กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กองระบาดวิทยา สคร.7 ขอนแก่น

http://envocc.ddc.moph.go.th/contents/view/77 กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม

ผู้รวบรวม: นางสาวสุภัทรา  พิมหานาม จพ.สาธารณสุขชำนาญงาน กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ข่าวสารอื่นๆ