สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

สคร.7 ขอนแก่น แนะประชาชน งดบริโภคสัตว์ปีกป่วยตายไม่ทราบสาเหตุ ไม่ชำแหละขาย หรือบริโภคในครัวเรือน

สคร.7 ขอนแก่น แนะประชาชน งดบริโภคสัตว์ปีกป่วยตายไม่ทราบสาเหตุ ไม่ชำแหละขาย หรือบริโภคในครัวเรือน

               สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้เปิดเผยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของจีน ออกแถลงการณ์ว่า พบผู้หญิง อายุ 54 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองจื้อกง ในมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N6 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับที่องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) รายงานพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง (HPAI) ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ถึงปัจจุบันพบว่ามีการระบาดมากถึง 4,578 จุด โดยเป็นผู้ป่วยที่พบสายพันธุ์ H5N6 จำนวน 61 ราย ในประเทศจีน ส่วนใหญ่อยู่ที่มณฑลเสฉวน  ส่วนในประเทศไทยปัจจุบันยังไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกทั้งในคนและสัตว์  แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพอากาศอาจส่งผลต่อสุขภาพสัตว์ปีก ทำให้สัตว์ปีกอ่อนแอและป่วยตายได้ พร้อมเตือนประชาชนให้งดชำแหละสัตว์ปีกที่ป่วยตาย ไม่นำไปบริโภคจำหน่ายหรือแจกจ่ายโดยเด็ดขาด 

               นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้แสดงความห่วงใยกรณีที่พบรายงานของโรคไข้หวัดนกชนิด H5N6 ในประเทศจีน  ซึ่งล่าสุดพบมีการแพร่ระบาดสู่คน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว  โดยได้กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ประเทศไทยจะไม่พบรายงานการเกิดโรคไข้หวัดนกมาแล้วเป็นระยะเวลา  17 ปี แล้วก็ตาม แต่อาจจะยังคงมีความเสี่ยงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน และมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกตามแนวชายแดน ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมและป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังโรคสัตว์ตามแนวชายแดน เข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ปีกภายในประเทศ ชะลอการนำเข้าสัตว์และซากสัตว์ปีกจากประเทศที่เกิดโรคไข้หวัดนก ส่วนสัตว์ปีกที่เลี้ยงในระบบฟาร์ม ได้ขอความร่วมมือให้เข้มงวดความปลอดภัยทางชีวภาพขั้นสูงสุด เช่น การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในโรงเรือนและบริเวณโดยรอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  รวมทั้งให้เข้มงวดเรื่องระบบความปลอดภัยภายในฟาร์ม ควบคุมการเข้าออกฟาร์ม ให้ฉีดพ่นยานพาหนะทุกคัน  รณรงค์ทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ตลอดจนผลักดันระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกให้เข้าระบบมาตรฐาน GAP หรือ GFM สำหรับประชาชน “ขอความร่วมมือไม่ควรนำมาสัตว์ปีกที่ป่วยหรือป่วยตายมาชำแหละ ขาย หรือรับประทาน หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อทำการตรวจสอบและดำเนินมาตรการควบคุมโรค จำกัดการแพร่ระบาดของโรคโดยเร็วที่สุด ทำลายซากสัตว์อย่างถูกวิธี  และขอให้หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ทั้งก่อนและหลังปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังจากดูแลสัตว์ หรือหลังการดูแลผู้ป่วย  ย้ำประชาชนควรเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ปีกจากร้านจำหน่ายที่สะอาดได้มาตรฐานความปลอดภัย และยังสามารถรับประทานเนื้อสัตว์ปีกได้แต่ต้องปรุงให้สุกด้วยความร้อนก่อนนำมารับประทาน”  

              โรคไข้หวัดนกเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอในสัตว์ปีก โดยสัตว์ปีกทุกชนิดติดเชื้อนี้ได้ เช่น ไก่ เป็ด นกน้ำ นกชายทะเล เป็นต้น ซึ่งเชื้อไวรัสไข้หวัดนกมีหลายสายพันธุ์ที่ก่อโรคในคนได้ โดยส่วนมากผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดนกจะมีประวัติการสัมผัสกับไก่ป่วย/ไก่ที่ตายผิดปกติ ส่วนการแพร่จากคนสู่คนพบได้น้อย สำหรับอาการของโรคไข้หวัดนก หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 2-8 วัน มักมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย มีน้ำมูก ไอ และเจ็บคอ บางครั้งพบว่ามีอาการตาแดงร่วมด้วย บางรายมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ระบบหายใจล้มเหลว โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ ที่สำคัญหากผู้ป่วยมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรืออยู่ในพื้นที่สัตว์ปีกป่วยตาย  ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร 1422”

 

 

*************************

ข้อมูลจาก :   กรมปศุสัตว์ / กรมควบคุมโรค

วันที่ 18 มกราคม 2565

 


ข่าวสารอื่นๆ