สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

สคร.7 จ.ขอนแก่น เตือนฝนตกระวังป่วยโรคไข้เลือดออก แนะใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” หากมีไข้สูงลอย ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ใบหน้าหรือผิวหนังมีจุดแดง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

         สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น เตือนประชาชนในพื้นที่ให้เฝ้าระวังป้องกันโรคไข้เลือดออกเนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องทำให้ยุงลายแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้ง เชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลายด้วยมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” และหากมีอาการของโรคไข้เลือดออกให้รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรซื้อยากินเอง

          นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ รวมทั้งในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7  เอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย เนื่องจากมีน้ำขังอยู่ตามภาชนะต่างๆ เช่น โอ่งน้ำ ยางรถยนต์เก่า กระถางต้นไม้ น้ำสำหรับสัตว์เลี้ยง แจกัน เศษขยะ เป็นต้น กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อย่างดีของลูกน้ำยุงลาย ทำให้ยุงลายแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว และเพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อยุงลายเพิ่มมากขึ้น การระบาดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะโดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกก็มีโอกาสพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

          สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 18 พฤษภาคม 2565 พบผู้ป่วย จำนวน 1,952 ราย เสียชีวิต 2 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 5-14 ปี รองลงมา คือ 15-24 ปี และเด็กแรกเกิด - 4 ปี ตามลำดับ และคาดว่าอัตราผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ส่วนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7  ที่ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ จากการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา วันที่ 1 มกราคม - 11 มิถุนายน 65 พบผู้ป่วยสะสมโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ 151 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 2.99 ต่อประชากรแสนคน ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต

            ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษา ต้องรักษาตามอาการ การป้องกันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันในการดำเนินมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค ได้แก่ 1. เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2. เก็บขยะ เศษภาชนะต่างๆไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และ 3. เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด เช่น โอ่ง ไห ขวด ถัง เป็นต้น ไม่ให้ยุงลายวางไข่ โดยต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน เพื่อป้องกัน 3 โรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

        นายแพทย์สมาน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการของโรคไข้เลือดออก หากมีคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดมีอาการไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ใบหน้าหรือผิวหนังมีจุดแดง อาเจียน ปวดท้อง ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และรักษาได้ทันเวลา และห้ามซื้อยารับประทานเอง หากจำเป็นให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโคลฟิแนก เพราะถ้าเป็นไข้จากโรคไข้เลือดออก ยากลุ่มนี้มีผลทำให้เลือดออกมากขึ้น อาจทำให้เกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้

 

 

********************************

ข้อมูล :  กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค / กลุ่มระบาดวิทยาฯ สคร.7 จ.ขอนแก่น กรมควบคุมโรค

วันที่  14 มิถุนายน 2565


ข่าวสารอื่นๆ