สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

แพทย์แนะ ประชาชนให้เพิ่มความใส่ใจรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ปลอดภัยจากอาหารเป็นพิษ

       ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยารายงานสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้นได้ในช่วงสัปดาห์นี้ ประเทศไทยจะพบกับช่วงอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ในขณะที่บางพื้นที่มีสภาพอากาศร้อนในตอนกลางวัน อาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย สอดคล้องกับสถานการณ์เจ็บป่วยจากโรคอาหารเป็นพิษในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 เพิ่มสูงขึ้น

     นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในเขตสุขภาพที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น มหาสาคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 ก.พ. 66 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 1,344 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต จากรายงานสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่าประเทศไทยในช่วงนี้อาจมีสภาวะอากาศสำหรับโรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งมีเชื้อที่ก่อโรคอยู่หลายชนิด เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต หรือการปนเปื้อนสารพิษต่างๆ เป็นต้น แต่สาเหตุของอาหารเป็นพิษที่พบได้บ่อยครั้งคือ จากเชื้อแบคทีเรีย รองลงมาคือ ไวรัส จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังการรับประทานอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็ง โดยขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” คือ รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ด้วยความร้อน ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ก่อนรับประทานอาหารหลังเข้าห้องน้ำและสัมผัสสิ่งสกปรก สำหรับอาหารที่ปรุงประกอบไว้แล้ว ขอให้สำรวจอาหารก่อน หากมีกลิ่น รส หรือสีเปลี่ยนไป ไม่ควรนำมารับประทาน

        ทั้งนี้ การเลือกซื้อเนื้อสัตว์นำมาประกอบอาหาร ขอแนะนำ ดังนี้ 1.ควรเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่สดใหม่ และสะอาด จากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์  2.การเลือกซื้อเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อหมู ควรเลือกเนื้อที่มีสีชมพู ไม่ใช่สีแดงสดมากเกินไปเพราะอาจผสมสีหรือใส่สารเร่งเนื้อแดง ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว มีสีเขียวหรือสีคล้ำ เพราะหากสีของเนื้อหมูมีสีที่ซีดเซียวก็อาจจะเป็นเนื้อหมูที่ค้างคืนมาแล้ว  3.แนะนำให้กดเนื้อหมูดูความสด ซึ่งเนื้อหมูต้องกดแล้วไม่บุ๋มหรือยุบตัว เนื้อหมูนั้นจะต้องเด้งกลับขึ้นมาปกติ แบบนี้จะเป็นหมูที่สดใหม่  4.หากต้องการเนื้อหมูบด อาจเลือกเป็นชิ้น แล้วนำมาบดหรือสับเอง เพื่อให้มั่นใจว่าได้หมูบดจากเนื้อหมูในส่วนที่ต้องการนำมาประกอบอาหาร  และ 5.ควรแยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูดิบและสุกออกจากกัน รวมถึงเขียงที่ใช้หั่นวัตถุดิบควรทำความสะอาดก่อนใช้ใหม่ทุกครั้ง  ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

****************************************
ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566

เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ  สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น


ข่าวสารอื่นๆ