สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
Responsive image

แพทย์แนะมาตรการควบคุมโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียน เน้นย้ำอนามัยส่วนบุคคล ผู้ปรุง ประกอบอาหารเป็นสิ่งสำคัญ

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น แนะสถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียน หลังพบอุบัติการณ์อาหารเป็นพิษในกลุ่มเด็กวัยเรียน เน้นย้ำหลักการอาหารปลอดภัย เน้นที่ผู้ปรุงอาหาร ประกอบอาหาร และผู้สัมผัสกับอาหารในทุกขั้นตอน หากดูแลความสะอาด ใส่ใจอนามัยส่วนบุคคลและปลูกฝังให้เด็กๆ กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ จะช่วยป้องกันได้


           วันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2566) นายแพทย์สมาน  ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วงที่เกิดในสถานศึกษา สาเหตุจากการรับประทานอาหารมีการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษ กระทั่งเกิดอาการท้องเสียในกลุ่มเด็กนักเรียน และอาจพบได้ในทุกระดับชั้นได้แก่ ชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา สำหรับสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในพื้นที่รับผิดชอบ (จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 ก.พ. 66 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 1,344 ราย ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุต่ำกว่า 14 ปี ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต

          สำหรับโรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต หรือการปนเปื้อนสารพิษต่างๆเป็นต้น แต่สาเหตุของอาหารเป็นพิษที่พบได้บ่อยครั้งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย รองลงมาคือ ไวรัส นอกนั้นพบได้บ้างประปราย  ทั้งนี้ อุบัติการณ์ของโรคอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่มักเกิดในสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มรับประทานอาหาร เช่น ในโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถานเลี้ยงเด็ก กิจกรรมเข้าค่าย กิจกรรมทัศนศึกษา  ดังนั้นจึงขอเน้นย้ำ ให้มีการใช้มาตรการป้องกันควบคุมโรคอาหารเป็นพิษที่ผู้เกี่ยวข้องกับสถานศึกษาทุกระดับนำไปปฏิบัติได้ ดังนี้ 1.จัดระบบโรงอาหารในโรงเรียน ให้ผู้ประกอบการดำเนินตามมาตรฐานการสุขาภิบาลอาหารอย่างเคร่งครัด 2.มีการตรวจรับนมโรงเรียนตามเกณฑ์ คำนึงถึงความปลอดภัยในการเก็บรักษานมอย่างถูกวิธี ให้มีคุณภาพดีก่อนแจกจ่าย 3.มีการควบคุมดูแลผู้ทำหน้าที่ในการปรุงประกอบอาหาร หรือสัมผัสกับอาหารต้องยึดหลักสุขาภิบาลอาหารอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล  4.ผู้ปรุงประกอบอาหารควรเลือกใช้วัตถุดิบจากร้านค้าที่สะอาดได้มาตรฐาน 5.วัตถุดิบและอุปกรณ์ปรุงประกอบอาหาร ต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมาใช้งาน 6.ปรุงอาหารด้วยความร้อนให้ทั่วถึง   7.เมื่อปรุงอาหารเสร็จแล้วต้องเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด 8. อาหารที่ใส่กล่องไม่ควรราดบนข้าวโดยตรง ควรแยกบรรจุกับข้าวในถุงพลาสติกต่างหาก และ 9. สถานศึกษาควรมีความพร้อมในการดูแลรักษาเบื้องต้น ทั้งการประสานส่งต่อผู้ป่วย ตลอดจนความพร้อมในการสื่อสารความเสี่ยงเมื่อพบนักเรียนป่วยหรือเกิดเหตุการณ์ระบาดในโรงเรียนเพื่อลดผลกระทบหรือความรุนแรงจากโรคอาหารเป็นพิษ

           “รายการอาหารหรือเมนูอาหารที่มีความเสี่ยง และทำให้ให้ผู้บริโภคมีการเจ็บป่วยเป็นโรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วงเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ที่พบได้บ่อย  ได้แก่ น้ำ/น้ำแข็ง ที่ไม่สะอาดมีการปนเปื้อนเชื้อ ข้าวมันไก่  ไข่พะโล้  อาหารประเภทยำ อาหารที่มีกะทิ ข้าวผัด ส้มตำ ขนมจีนน้ำยา ที่สำคัญอาหารในเมนูที่กล่าวมามักปรุงไว้นานเกิน 4 ชั่วโมง ซึ่งจะเริ่มบูด เสีย ข้อแนะนำสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษในเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น ยังมีอาการถ่ายเหลวต่อเนื่องหรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ให้รีบส่งตัวไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน และขอเน้นย้ำเรื่องการดูแลความสะอาด ใส่ใจอนามัยส่วนบุคคล กินสุก ร้อน สะอาด จะช่วยลดปัญหาได้ ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422”

 

 

****************************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566

เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ  สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น

 


ข่าวสารอื่นๆ